วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รูป สุนัขพันธุ์ต่างๆ ที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุด

รูป สุนัขพันธุ์ต่างๆ ที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุด
1.Labrador Retriever (ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์)

สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์นี้มีต้นกำเนิดในรัฐนิวฟาวด์แลนด์ประเทศแคนาดา โดยใช้ช่วยงานชาวประมงในการลากอวนเข้าฝั่ง ปีที่กำเนิดประมาณ ค.ศ. 1800 และต่อมาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 สุนัขต้นสายพันธุ์ลาบราดอร์ได้ถูกนำจากนิวฟาวด์แลนด์มาที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสุนัขที่มีสีดำ ขนสั้นทั้งสิ้น แต่ด้วยความที่มีการเก็บค่าภาษีสุนัขที่แพงมาก ประกอบกับกฏระเบียบที่เข้มงวดของอังกฤษทำให้การนำเข้าสุนัขพันธุ์นี้ไปยังอังกฤษต้องหยุดชะงักลง เมื่อความต้องการลดน้อยลงคนจึงเลิกเพาะ จนมีการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาใหม่โดยผสมข้ามสายพันธุ์กับสุนัขในกลุ่มรีทรีฟเวอร์ในปี ค.ศ. 1903 จะเห็นได้ว่าเดิมสุนัขพันธุ์นี้มีแต่สีดำ แต่หลังจากมีการพัฒนาสายพันธุ์ในภายหลังทำให้เกิดสีเหลืองตามมา ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปและถูกต้องตามมาตรฐานสายพันธุ์ หรือแม้จะเป็นสีช็อคก็ได้รับความนิยม

ปัจจุบันสุนัขพันธุ์นี้นอกจากจะใช้งานในการล่าสัตว์แล้ว ยังใช้ในการตรวจค้นหายาเสพติด ระเบิด และช่วยนำทางให้กับผู้พิการทางสายตาอีกด้วย

มาตราฐานสายพันธุ์

ลักษณะทั่วไป : เป็นสุนัขที่มีโครงสร้างแข็งแรง ฝึกง่าย มีความกระตือรือร้น ขนาดใหญ่ ตัวผู้สูง 22.5-24.5 นิ้ว หนัก 60-75 ปอนด์ ตัวเมียสูง 21.5-23.5 นิ้ว น้ำหนัก 55-70 ปอนด์ (ส่วนสูงถึงหัวไหล่ และน้ำหนักโดยประมาณ 25-34 กิโลกรัม)
ศีรษะ : กะโหลกใหญ่กว้าง สันจมูกมี STOP ขอบบนของเบ้าตาเป็นสันนูนขึ้นเล็กน้อย
ตา : ตามีแววที่เป็นมิตร มีขนาดปานกลางไม่โปนหรือบุ๋มลึกเข้าไป มีสีน้ำตาลเข้มหรือดำ
จมูก : จมูกใหญ่และกว้าง มีสีดำสนิทหรือสีน้ำตาล (ขึ้อยู่กับสีขน)
ฟัน : ฟันต้องสบกันพอดี โดยฟันล่างสัมผัสด้านในของฟันบน
หู : หูจะปรกด้านข้างของหัว มีขนาดพอดี ถ้าดึงปลายหูมาด้านหน้าจะยาวระดับตา
ลำตัว : คอยาวเล็กน้อย มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงเป็นลักษณะของสุนัขที่ใช้ในเกมกีฬา เส้นหลังตรง ลำตัวสั้น ช่วงอกกว้างหนา กระดูกซี่โครงค่อนข้างกลม
หาง : ส่วนโคนหางมีขนาดใหญ่ กลม หนา เรียวไปยังส่วนปลาย ไม่มีพู่หาง หางคล้ายหางของนาก
ขน : ขนสั้น เหยียดตรงและหนา มีขนสองชั้น ขนเรียบ มีสามสี สีดำสนิท สีน้ำตาลเข้ม หรือสีเหลืองหรือครีมจาง
ขา : ขาหน้าเหยียดตรงแข็งแรง อุ้งเท้าหนา นิ้วเท้าโค้งมาก ขาหลังแข็งแรงได้ส่วน
ลักษณะนิสัย : เป็นสุนัขที่ฉลาด ใจดี เป็นมิตร สุภาพ ไม่ก้าวร้าวต่อคนและสุนัขด้วยกัน อยู่รวมเป็นฝูงได้ ชอบว่ายน้ำ ตอบสนองรวดเร็ว สามารถฝึกความสามารถพิเศษอื่นๆ ได้มากมาย เช่น ใช้เป็นสุนัขค้นหาผู้ประสบภัย ค้นหายาเสพติด ฯลฯ ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ง่าย
สิ่งที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ : เป็นสุนัขที่อ้วนได้ง่าย ควรพาไปออกกำลังกายสม่ำเสมอ และได้รับอาหารที่ถูกสุขลักษณะ


2.
Golden Retriever (โกลเด้น รีทรีฟเวอร์)

(พันธ์นี้ จขกท อยากเลี้ยงมาก แต่ไม่มีปัญญาหามาเลี้ยง T^T)
ข้อมูลเยอะหน่อยนะ

ดูจากสีขนที่เหลืองเป็นสีทองไปทั้งตัว ประกอบกับใบหน้ากว้างและดูปราดเปรียวแล้ว ลักษณะทุกอย่างของสุนัขพันธุ์นี้ส่อให้เห็นถึงท่าทีอันสุภาพเป็นมิตร สุนัขพันธุ์นี้จึงเป็นที่นิยมไปทั่วทุกมุมโลก รูปร่างอันงดงามของโกลเด้น รีทรีฟเวอร์นั้นใช่ว่าจะสวยแต่รูปก็หาไม่ ความสามารถของมันนั้นไม่เบา ไม่แพ้พันธุ์เก็บนกชนิดอื่นๆ หรือพวกพันธุ์สแปเนี่ยลตัวเป้งๆ ในระหว่างฤดูหนาวของแคนาดาซึ่งหนาวใช่ย่อย มันก็ยังลุยเก็บนกเป็ดน้ำได้อย่างสบาย

โกลเด้น รีทรีฟเวอร์เป็นสุนัขขนาดใหญ่ที่มีความคล่องตัวสูง เป็นสุนัขที่มีความเฉลียวฉลาดมากมากจนสามารถนำมาฝึกเพื่อใช้งานได้ เนื่องจากเป็นสุนัขที่มีขนาดไม่เล็กหรือไม่ใหญ่จนเกินไป จัดว่าเป็นสุนัขที่มีประสาทสัมผัสดีเลิศทั้งในด้านของการฟังเสียง การดมกลิ่นสะกดรอย นอกจากนี้ยังมีสายตาอันเฉียบคมและแม่นยำ ด้วยเหตุนี้วงการทหารและตำรวจในหลายๆ ประเทศจึงได้นำสุนัขพันธุ์นี้มาฝึกเพื่อไว้ช่วยงานราชการ อาทิเช่น ตรวจค้นยาเสพติด, ดมกลิ่นสะกดรอยคนร้าย, ยามรักษาความปลอดภัย แต่ที่ดูเหมือนจะได้รับความนิยมสูงสุด ก็เห็นจะได้แก่ฝึกให้เป็นสุนัขนำทางคนตาบอด ทั้งนี้เพราะโกลเด้น รีทรีฟเวอร์เป็นสุนัขซึ่งฉลาด แต่ไม่ค่อยเจ้าเล่ห์หรือซุกซนเหมือนสุนัขบางพันธุ์

เจ้าสีทองพันธุ์นี้ปรากฏขึ้นในลักษณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในเมืองอังกฤษในทศวรรษที่ 1860 เป็นสุนัขที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากสุนัขในกลุ่มสแปเนี่ยล ซึ่งเป็นสุนัขที่มีความวชาญทางน้ำเป็นพิเศษ โดยมีขนาดเล็กกว่าสุนัขพันธุ์นิวฟาวน์แลนด์ แต่มีลักษณะโครงสร้างที่คล้ายคลึงกัน สันนิษฐานว่าอาจผสมข้ามพันธุ์มาจากสุนัขพันธุ์ไอริชเซทเทอร์ และสุนัขในกลุ่มวอเตอร์สแปเนี่ยล โดยอาจมีสายเลือดของสุนัขพันธุ์บลัดฮาวน์เข้าไปเจือปนอยู่ด้วย

ต่อมาในปลายศตวรรษที่ 19 สุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์หรือที่บางคนเรียก เยลโล่ รีทรีฟเวอร์ ( YELLOW RETRIEVER ) ก็เป็นที่รู้จักและนิยมเลี้ยงกันแพร่หลายในประเทศอังกฤษ จนในปี ค.ศ. 1908 ก็ได้จัดให้มีการประกวดสุนัขพันธุ์นี้ขึ้นเป็นครั้งแรกที่คริสตัลพาเลซ และหลังจากนั้นไม่นานก็ได้มีการจัดตั้งชมรมสุนัขพันธุ์นี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ

สำหรับในสหรัฐอเมริกา โกลเด้น รีทรีฟเวอร์เริ่มเป็นที่นิยมเลี้ยงกันแพร่หลายในราวปี ค.ศ. 1930 เป็นต้นมา โดยชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะเลี้ยงโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ไว้เพื่อเป็นนักล่า แม้ทางสมาคม AKC ของสหรัฐอเมริกาจะให้การรับรองสุนัขพันธุ์นี้เข้าไว้ในทำเนียบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1925 แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ค่อยได้รับจากผู้เลี้ยงที่คิดอยากจะส่งสุนัขเข้าประกวดซักเท่าไหร่ เนื่องจากผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้ส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับประสิทธิภาพของการใช้งานมากกว่าการประกวด และในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1977 ทางสมาคม AKC ก็ได้จัดให้มีการประกวดความสามารถและความฉลาดแสนรู้ของสุนัข ซึ่งผลปรากฏว่าสุนัขที่ได้รางวัลที่ 1-3 ล้วนเป็นสุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ทั้งสิ้น จากผลการประกวดในครั้งนั้นทำให้ชาวอเมริกันเริ่มเกิดความตื่นตัว และหันมาให้ความสนใจเลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้มากขึ้น

สำหรับในด้านของสายพันธุ์ ในยุคสมัยแรกๆ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์จะมีสีเฉพาะสีทองหรือสีน้ำตาลออกไปทางเหลือง ( ซึ่งก็มีด้วยกันหลายเฉด ) แต่พอมาในช่วงหลังๆ ก็ได้เกิดสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีขนสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลไหม้ ซึ่งสีนี้ก็เป็นสีที่นิยมมากพอสมควรทั้งในยุโรปและอเมริกา เนื่องจากเป็นสีที่แปลกใหม่

มาตราฐานสายพันธุ์

ลักษณะทั่วไป : โครงสร้างได้ส่วน และดูแข็งแกร่งทรงพลัง เป็นสุนัขที่มีความกระตือรือร้นตลอดเวลา ค่อนข้างสงบเสงี่ยม ไม่ส่งเสียงโดยไม่มีเหตุผล มีขนาดปานกลาง ไม่เทอะทะเก้งก้างจนดูเกะกะ
เป็นสุนัขที่มีนิสัยค่อนข้างจะเป็นมิตรกับทุกๆ คน ดังนั้นจึงสามารถพาไปไหนมาไหนโดยไม่สร้างปัญหา มีความเฉลียวฉลาด ว่านอนสอนง่าย เป็นสุนัขที่มีความปราดเปรียวและอดทน ลีลาในการย่างก้าวหรือไหวเป็นไปด้วยความนิ่มนวล

อุปนิสัย : มีความกระตือรือร้นตลอดเวลา ค่อนข้างสงบเสงี่ยม ไม่ส่งเสียงโดยไม่มีเหตุผล มีขนาดปานกลาง ไม่เทอะทะเก้งก้างจนดูเกะกะ

ศีรษะ : กะโหลกใหญ่และกว้างโค้งได้รูปสวยงาม ไม่หยักเป็นร่องลึกหรือโหนกนูนจนมีลักษณะเป็นรูปโดม ช่วงรอยเชื่อมระหว่างจมูก ปาก และหน้าผาก มีความลาดเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับหัก หรือเชื่อมต่อเป็นเส้นตรงเดียวกัน ใบหน้าลึกและกว้างขนาดพอๆ กับศีรษะ, สันจมูก, ปาก เป็นเส้นตรงเวลามองจากด้านข้างปลายจมูก ปากค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นรับกับขนาดของกะโหลกศีรษะ ลักษณะรูปทรงคล้ายลิ่มแลดูแข็งแกร่ง หนังย่นบริเวณหน้าผากอนุโลมให้มีได้ แต่ลักษณะของใบหน้าที่สวยงาม หนังบริเวณใบหน้าควรจะเรียบตึง

ฟัน : ต้องขบกันได้แนบสนิทเหมือนกรรไกร โดยฟันด้านหน้าแถวบนขบเกยอยู่ด้านนอก ซึ่งลักษณะของฟันสำหรับสุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากเป็นสุนัขที่มีหน้าที่ในการเก็บหรือคาบเหยื่อ ดังนั้นอำนาจในการขบกัดจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากสุนัขมีฟันหน้าชุดบนและชุดล่างขบเสมอกันพอดีเหมือนประตูลิฟท์ถือว่าใช้ไม่ได้ แต่ยังพออนุโลมผ่อนผันให้ได้ เว้นแต่ฟันหน้าชุดล่างขบเกยอยู่ด้านนอก หรือฟันหน้าชุดบนและล่างขบเกยไม่สนิทกันถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง ถ้าฟันมีคราบหินปูนเกาะ ฟันผุ หรือฟันมีลักษณะเว้าแหว่งถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรงเช่นกัน

จมูก : จะต้องเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล ส่วนจะเข้มหรืออ่อนก็ขึ้นอยู่กับสีขน แต่ถ้าจมูกเป็นสีชมพูถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง

หู : หูควรสั้นพอประมาณ ใบหูมีลักษณะห้อยปกลงแนบกับส่วนแก้ม รูปทรงค่อนไปทางรูปสามเหลี่ยม ปลายมน เวลาดึงใบหูไปด้านหน้าความยาวของใบหู หูควรปกคลุมลูกตาได้พอดี แต่ถ้าหากฐานใบหูตั้งอยู่ในตำแหน่งต่ำเกินไป หรือหูมีลักษณะเหมือนสุนัขในกลุ่มฮาวน์ หรือดัชชุน ถือเป็นข้อบกพร่อง

ลำคอ : ควรยาวพอประมาณ ลำคอควรตั้งบนหัวไหล่ แลดูมั่นคงกล้ามเนื้อแลเห็นเด่นชัด ขนบริเวณรอบคอห้ามมีการตกแต่ง คอต้องไม่มีเหนียงยื่นโผล่ออกมา

ลำตัว : โครงสร้างลำตัวกระชับได้ส่วน อกลึกและกว้าง ความกว้างของอกอย่างน้อยควรมีขนาดพอๆ กับ ฝ่ามือของผู้ชายวางทาบเสมอพอดี ส่วนความลึกของอกควรลึกเสมอข้อศอกขาหน้า กระดูกซี่โครงควรโค้งได้รูปแข็งแรง โดยส่วนแผ่นหลังจะแลดูหนากว่าใต้ท้อง ลำตัวเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ มีความลึกและหนาแลดูบึกบึน แผ่นหลังเรียบตรง โดยมีลักษณะลาดเทจากหัวไหล่ ไปทางบั้นท้ายเล็กน้อยไม่ว่าจะเป็นเวลายืนนิ่งๆ หรือกำลังเคลื่อนไหว โกลเด้น รีทรีฟเวอร์มีหน้าอกเล็กแคบ อกตื้น เส้นหลังแอ่นหรือลาดเทมากเกินไป หรือก้นโด่ง ลำตัวบอบบางเกินไป เวลาเคลื่อนไหวเส้นหลังแกว่ง แลดูขาดความแข็งแกร่งล้วนเป็นข้อบกพร่อง

อุ้งเท้า : มีขนาดปานกลาง เป็นรูปทรงกลม อุ้งเท้ากระชับ นิ้งเท้าไม่กางแบะออกเหมือนตีนเป็ด ขนบริเวณใต้อุ้งเท้าควรได้รับการขลิบออก เพื่อช่วยให้การยึดเกาะมั่นคงยิ่งขึ้น นิ้วติ่งขาหน้าควรกำจัดออกให้หมด แต่โดยปกติจะไม่ค่อยปรากฏนิ้งติ่งให้เห็น โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เวอร์ที่มีอุ้งเท้าแบะหรืออุ้งเท้าแหลมคล้ายอุ้งเท้าของกระต่าย ถือเป็นข้อบกพร่อง

หาง : ควรตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงสุดต่อจากเส้นหลัง หางมีขนาดใหญ่โดยเฉพาะบริเวณโคนหางควรจะมีกล้ามเนื้อ ปกติหางจะมีลักษณะห้อยลงต่ำโค้งได้รูปกับสะโพก ความยาวของหางพอๆ กับมุมข้อศอกขาหลัง ในยามที่สุนัขที่ดีใจหางจะโบกสะบัดไปมา บางครั้งอาจงอม้วนขึ้นสูงเหนือระดับแผ่นหลัง

ลำตัวหน้า : เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ มีขนาดเหมาะสมรับกับลำตัวส่วนหลังขณะที่เดินหรือวิ่ง การก้าวย่างเป็นไปอย่างอิสระ การก้างย่างของขาอยู่ในแนวเดียวกับรัศมีของหัวไหล่ กระดูกขามีขนาดค่อนข้างใหญ่และเหยียดตรง กระดูกข้อเท้าสั้นและแข็งแรง มีความลาดเอียงเพียงเล็กน้อย

ลำตัวหลัง : หนาและแข็งแรง เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ บั้นท้ายมีลักษณะลาดเทเล็กน้อย กระดูกขาท่อนบนทอดไปทางด้านหลัง ส่วนกระดูกขาท่อนล่างเหยียดตรงทำมุมฉากกับพื้น โดยขาท่อนล่าง(แข้ง)ยิ่งมีขนาดสั้นเท่าไหร่ย

ขน : ขนดกแน่น สามารถปกป้องน้ำได้เป็นอย่างดี ขนมี 2 ชั้น ขนชั้นนอกจะยาวและมีลักษณะค่อนข้างแข็ง แต่ไม่ถึงกับหยาบกระด้าง เส้นขนมีความยืดหยุ่นในตัว ถ้าหากขนมีลักษณะเส้นเล็กหรือไม่ดกแน่นถือเป็นข้อบกพร่อง ลักษณะของขนที่ถูกต้องจะต้องขึ้นแนบติดลำตัว ส่วนเส้นขนจะเหยียดตรงหรือหยักศกเล็กน้อยไม่เป็นข้อบกพร่อง สำหรับขนบริเวณด้านหลังของขาและใต้ท้องจะมีลักษณะค่อนข้างอ่อนนุ่มกว่าขนตามลำตัว โดยเฉพาะขนที่บริเวณใต้คอ ด้านหลังของต้นขาหลัง และขนใต้หาง จะมีลักษณะอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ ส่วนขนบริเวณศีรษะ ด้านหน้าของขา(หน้าแข้ง) และเท้าจะมีลักษณะสั้นและเรียบ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ที่มีเส้นขนยาวจนเกินไป ขนฟูเป็นกระเซิงไม่แนบติดกับลำตัว หรือมีขนเบาบางไม่ดกแน่น ขนเส้นเล็กล้วนถือเป็นข้อบกพร่อง การตัดแต่งขนจะตัดเฉพาะอุ้งเท้าเท่านั้น

สี : สีต้องเป็นสีน้ำตาลออกทอง ส่วนจะมีสีเข้มอ่อนไม่มีปัญหา ขนตามใบหน้าและลำตัวอาจจะมีเหลือบเทาหรือขาวก็ได้ แต่ถ้าเป็นรอยแต้มด่างสีขาว หรือมีขนสีขาวขึ้นแซมถือเป็นข้อบกพร่อง ยกเว้นโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ที่มีขนสีทองอ่อน ซึ่งมีสีจืดหรือจางมากๆ และสีขาวด่างที่ปรากฏแลดูกลมกลืนกับสีขน ก็ถือเป็นข้ออนุโลม และถ้าหากพื้นที่ของสีขนส่วนใหญ่มีสีซีดจางเกินไป หรือเข้มมากเกินไปก็ถือว่าเป็นข้อบกพร่อง พูดง่ายๆ ก็คือ ถามีขนออกไปทางโทนสีครีมอ่อนๆ หรือสีน้ำตาลไหม้ ขนส่วนนี้จะต้องมีพื้นที่เป็นเพียงส่วนน้อยของขนทั้งหมด คือจะต้องมีโทนสีเข้มกว่าหรืออ่อนกว่ามาช่วยเสริม และสีขนส่วนที่จะมาช่วยเสริมต้องครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่า โกลเด้น รีทรีฟเวอร์บางสายพันธุ์ขณะที่ยังเป็นลูกสุนัขอาจจะมีสีซีดจาง แต่เมื่อโตขึ้นสีก็จะเข้มขึ้นโดยธรรมชาติ สำหรับโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ที่มีสีอ่อน นอกเหนือจากที่กล่าวมาล้วนถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง

การเคลื่อนไหว : การก้าวย่างเป็นไปอย่างอิสระ แลดูนุ่มนวลแต่ทรงพลังและสง่างาม เวลาที่วิ่ง ระยะการย่างก้าวของขาหน้าและขาหลังจะต้องมาบรรจบกันที่กึ่งกลางลำตัว เวลาเดินหรือวิ่งขาต้องไม่แกว่งหรือปัด ซึ่งในการประกวดการเคลื่อนไหวของโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก

ขนาด : เพศผู้ควรมีความสูงระหว่าง 23-24 นิ้ว(ความสูงวัดที่หัวไหล่ขาหน้า) ส่วนเพศเมียควรมีความสูงอยู่ในช่วงระหว่าง 21-22 นิ้ว หากความสูงน้อยกว่าหรือมากกว่ามาตรฐานที่กำหนดไม่เกิน 1 นิ้ว ถือเป็นข้ออนุโลม แต่ถ้าสูงหรือเตี้ยกว่าเกิน 1 นิ้ว จากเกณฑ์มาตรฐานถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรงมาก สำหรับความยาวของลำตัวโดยวัดจากหน้าอกถึงบั้นท้าย ควรมีส่วนความยาวมากกว่าความสูงเล็กน้อย คือ ส่วน 12 :11 ส่วนน้ำหนักของสุนัขเพศผู้ควรอยู่ในช่วงระหว่าง 65-75 ปอนด์ สำหรับเพศเมีย 55-56 ปอนด์

อารมณ์ : ควรมีความเป็นมิตรกับทุกๆ คน ไม่มีนิสัยขี้หวาดระแวงและดูน่าเชื่อไว้วางใจได้ ไม่มีนิสัยก้าวร้าวดุร้าย แต่ก็ไม่ขี้ขลาดตาขาวด้วย
3.Poodle (พุดเดิล)

สัตว์น้อยแสนไฮโซ - -

Poodle ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามีกำเนิดในประเทศใด บางข้อมูลกล่าวว่ามีกำเนิดในประเทศเยอรมัน โดยรู้จักกันในนาม Pudle แต่บางท่านกล่าวว่า Poodle เป็นสุนัขประจำชาติของฝรั่งเศส โดยชาวฝรั่งเศสมักนิยมใช้สุนัขพันธุ์นี้ ในการคาบสิ่งของหรือฝึกแสดงในละครสัตว์และชอบที่จะตัดแต่งทรงขน ซึ่งมีลักษณะหยิกแน่นเป็นขดเป็นทรงต่างๆตามแฟชั่นเป็นที่โปรดปราน แก่บรรดาคุณหญิงคุณนายชาวฝรั่งเศสกันมาช้านาน


สุนัขพันธุ์นี้สืบเชื้อสายมาจากพันธุ์ Water Retriever จึงมีความสามารถพิเศษในการว่ายน้ำ Poodle มี 3 ขนาด โดยมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปคือ Toy poodle, Miniature Poodle, Standard Poodle โดยขนาด Standard Poodle ถือกำเนิดก่อน Poodle ขนาดอื่นๆ ซึ่งนิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ต่อมาจึงมีคัดเลือกสหพันธุ์ที่เล็กลง ผสมผสานจนเกิดเป็น Miniature และ Toy Poodle ขึ้น ทั้งสามขนาดนี้กำหนดขึ้นให้เป็นมาตรฐานประกวดไปทั่วโลกในปัจจุบัน

มาตราฐานสายพันธุ์
อุปนิสัย : ฉลาด ร่าเริง ช่างประจบประแจง ขี้อิจฉา สอนง่าย รักสะอาด จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมาช้านานทั่วทุกมุมโลก

หู : ห้อยแนบชิดส่วนหัว โคนหูจะอยู่ในระดับต่ำกว่าตาเล็กน้อย หูมีขนยาว ใบหูค่อนข้างกว้างและหนา

ศีรษะ : หัวกะโหลกมีลักษณะค่อนข้างกลม แก้มค่อนข้างแบนหากมองจาด้านบน ลักษณะจากส่วนหัวถึงปลายจมูกจะมีลักษณะคล้ายรูปหยดน้ำ

ตา : มีลักษณะเป็นรูปกลมค่อนข้างรี คล้ายผลอัลมอนด์ ตาสีเข้ม ขอบตาเข้ม ตามีแววร่าเริง ตื่นตัวเสมอ

ดั้งจมูก : มีมุมหักพอสมควรหรือลาดลง

ปาก : ความยาวของปากมีขนาดใกล้เคียงกับความยาวของหัวกะโหลก สันปากตรงแข็งแรง ริมฝีปากตึงไม่ห้อยหย่อนยานหรือปากล่างหนาจนเกินไป

ฟัน : ขาวแข็งแรง ขบแบบกรรไกร
ลำตัว : มองจากด้านข้าง มีลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความสูงของลำตัวมีขนาดใกล้เคียงกับความยาวของลำตัว เส้นหลังตรงแข็งแรง

คอ : มีขนาดค่อนข้างยาว ทำให้ Poodle ดูสง่างาม ขณะเชิดหัวขึ้นหนังคอตึง คอประกอบด้วยกล้ามเนื้อ

อก : ลึก กว้างพบประมาณ

เอว : สั้น ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ

ขาหน้า : มองจากด้านหน้า ขาหน้าตั้งตรง ขาหน้าทั้ง 2 ข้างขนานกัน ห่างกันพอเหมาะ มองจากด้านข้างอยู่ในแนวเดียวกับหัวไหล่ ขาหน้ามีกระดูกและกล้ามเนื้อสัมพันธ์กับขนาดของสุนัข ข้อเท้าหน้าแข็งแรง เท้ามีขนาดเล็ก รูปกลมรีไม่แบนเหมือนตีนเป็ด ฝ่าเท้าหนา เท้าชี้ตรงไปด้านหน้า ไม่บิดซ้ายบิดขวา นิ้วติ่งตัดออก เล็บควรตัดสั้น

ขาหลัง : มองจากด้านหลัง ขาหลังตรง ขนานกัน ขาหลังท่อนบนมีกล้ามเนื้อมาก ข้อเท้าสั้น ตั้งฉากกับพื้น ขาเท้าหลังทำมุมพอประมาณ และสัมพันธ์กับลำตัวส่วนหน้า เท้าหลังมีลักษณะเหมือนเท้าหน้าคือไม่บิดซ้ายบิดขวา

หาง : โคนหางอยู่ในระดับสูง หางตั้งตรงไม่ชี้เอนไปด้านหลังขณะเดิน หางนิยมตัดออก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของหางทั้งหมด

ขน : Poodle มีขน 2 ชั้น ขนชั้นบนอ่อนนุ่ม ขนชั้นนอกยาว ขนชั้นนอกนี้มี 2 ชนิด คือ ชนิดหยิกและชนิดหยิกคลายเป็นเกลียวคลื่น Poodle นิยมตัดแต่งขนให้มีรูปทรงต่างๆ กันได้หลากหลายตามแฟชั่นในแต่ละสถานที่ แต่มีข้อบังคับแน่นอนในสนามประกวด ดังนี้ อายุน้อยกว่า 12 เดือน ตัดทรง Puppy Clip เมื่ออายุเกิน 12 เดือนไปแล้วต้องตัดทรง English หรือทรง Continental Clip

สี : มีขนสีเดียวตลอดทั้งตัว ขนอาจมีสีจางลงได้ Poodle ขาวอาจมีสีครีมอ่อนที่หูได้ แต่ไม่ใช่สีตัดกันจนเป็นสีน้ำตาล Poodle สีน้ำตาลช็อกโกแลต กาแฟ แอปปริคอท มักมีจมูก, ขอบตา, เล็บ, ริมฝีปาก สีน้ำตาลเข้มๆ หรือสีตับ ส่วน Poodle สีดำ เทาดำ เทาเงิน ครีม และขาวจะมีจมูก, เล็บ, ขอบตา, ริมฝีปากและไรจมูกเป็นสีดำ

ขนาด : Poodle มี 3 ขนาดและจัดอยู่ในกลุ่มต่างๆ ดังนี้ Standard Poodle มีขนาด ความสูงไม่ต่ำกว่า 15 นิ้ว Miniatrue Poodle มีความสูง 11-15 นิ้ว ทั้ง 2 ขนาดนี้ จัดอยู่ในกลุ่มของ Non-Sporting Toy Poodle มีขนาดความสูงไม่เกิน 11 นิ้ว จัดอยู่ในกลุ่ม Toy ส่วนขนาด Tea-Cup ซึ่งเล็กกว่า Toy Poodle เป็นเพียงขนาดไม่ได้จัดประกวด มีความสูงตั้งแต่ 8 นิ้วลงไป นับเป็น Pet-Quality ที่นิยมเลี้ยงกันเท่านั้นจะเข้าประกวดไม่ได้เลย ถือเป็น Poodle ที่ด้อยผิดมาตรฐานของสายพันธุ์ Poodle ทั่วๆ ไป

การเดิน : มีความสง่างาม ขณะเดินหรือวิ่ง ขาหน้าไม่แกว่งหรือยกเตะสูงเหมือนพันธุ์ Miniatrue Pinscher จะเหวี่ยงขว้างไกลไปข้างหน้าเช่นเดียวกับขาหลัง หัวตั้งตรง ขณะเดินไม่โยกไปมา ขาแข็งแรง ก้าวอย่างมั่นใจ

ข้อบกพร่อง : มีหลายสีในตัวเดียวกัน เป็น Under หรือ Overshot ตากลมโปน ขาบิด เดินไขว้ เดินเตะสูง ขนาดกลัว ดุร้ายขณะประกวด ตัดแต่งขนผิดทรงและ Oversize ในกลุ่มนั้นๆ
การตัดขนมาตรฐานสำหรับพุดเดิ้ล






4.Yorkshire Terrier (ยอร์กเชียร์ เทอเรีย)


(อ๊ากกก น่ารัก *0* ไฮโซอีกด้วย)

สุนัขพันธุ์นี้เป็นสัตว์เลี้ยงแฟชั่นในสมัยสมเด็จพระนางวิคตอเรียสุนัขพันธุ์นี้เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ WATERSIDE TERRIER BLACH AND TAN ENGLISH TERRIER และCLYDESDALE TERRIER,YORKSHIRE TERRIER เป็นสุนัขที่มีขนาดเล็กขนยาวจรดพื้นขนเป็นประกายคล้ายแพรวไหมจึงเป็นที่นิยมเลี้ยงของสตรีทั่วไป สุนัขพันธุ์นี้ต้องได้รับการดูแลรักษาขนพอสมควร

มาตราฐานสายพันธุ์
อุปนิสัย : ฉลาด ร่าเริง
ศีรษะ : มีขนาดเล็ก ส่วนบนของหัวค่อนข้างแบน
หู : มีขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นรูปตัว V หูตั้ง
ตา : มีขนาดปานกลาง ตามีสีเข้ม ตาแวววาวเป็นประกาย
ปาก : มีขนาดไม่ยาวมาก
จมูก : สีดำ
ฟัน : มีขนาดใหญ่ ขนแบบเสมอหรือขบแบบกรรไกร
ลำตัว : มีลักษณะสั้น เส้นตรงอยู่ในแนวระดับ
ขาหน้า : ตรง ข้อศอกไม่บิดเข้าหรือออก เท้ากลม เล็บสีดำ นิ้วติ่งต้องตัดออก
ขาหลัง : เมื่อมองจากด้านหลังขาหลังตั้งตรง ข้อเท้าทำมุมพอประมาณ เท้ากลม เล็บสีดำ นิ้วติ่งต้องตัดออก
หาง : ตัดให้สั้นพอประมาณ หางตั้งอยู่เหนือระดับหลัง
ขน-สี : คุณภาพของขนถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ขนมีลักษณะเหยียดตรงเป็นประกายคล้ายแพรวไหมขนบริเวณลำตัวให้เสมอพื้น ขนบริเวณหัวยาวอาจจะผูกด้วยโบว์เดี่ยวหรือโบว์คู่ก็ได้ขนที่ผ่า เท้าตัดให้สั้น บริเวณลำตัวสีเทาเข้มเงา บริเวณหัว อก และขา สีน้ำตาลเงา
ขนาด : เป็นสุนัขขนาดเล็ก
น้ำหนัก : ไม่เกิน 7 ปอนด์



5.Bulldog (บลูด๊อก)


ประมาณปี 1860 มีสุนัข Bulldog มากมายในประเทศอังกฤษและสุนัขชนิดนี้ไม่ค่อยนิยมเลี้ยงเท่าไร สุนัขเหล่านี้บางส่วนถูกส่งเข้าไปในประเทศฝรั่งเศส และได้ผสมกับสุนัขพันธุ์ต่างๆในฝรั่งเศส จนในที่สุดเกิดเป็นสุนัขพันธุ์ French Bulldog ขึ้นและสุนัขพันธุ์นี้เป็นที่นิยมเลี้ยงในประเทศฝรั่งเศสโดยเฉพาะสุภาพสตรี

ปี 1880 ปารีส เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมของชาวอเมริกาผู้มั่งคั่ง และเมื่อมีข่าวสุนัขพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น ต่างก็ต้องการอยากจะไปดูด้วยตาตนเอง สิ่งที่พวกเขาได้พบคือสุนัขพันธุ์ French Bulldog สุนัขพันธุ์นี้มาจากอังกฤษ ความจริงอเมริกามีอิทธิพลในการเลือกเพาะพันธุ์นี้ขึ้นมาให้มีลักษณะอย่าง French Bulldog ในปัจจุบันได้รับการยอมรับที่สามารถให้พัฒนาให้มีหัวอย่างมัสตีฟ ขากรรไกรเป็นรูปสี่เหลี่ยม ลำตัวกะทัดรัดและที่สำคัญคือที่ใบหูเหมือนค้างคาวอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

French Bulldog เป็นสุนัขพันธุ์เล็กน้ำหนักไม่เกิน 28 ปอนด์ หน้าเหมือน Bulldog ทั่วไป ริมฝีปากหนา จมูกหักสั้นเข้าไปด้านใน นัยน์ตาสดใส ลักษณะพิเศษคือใบหูเหมือนค้างคาว ซึ่งไม่มีสุนัขพันธุ์ใดในโลกนี้เหมือนเขาจะเห่าและขู่บ้าง แต่มีความเป็นมิตรชอบทำตัวเป็นเจ้าของบ้านมากกว่าเป็นผู้อารักขา พร้อมที่เป็นมิตรกับคนแปลกหน้าเสมอไม่ว่าจะเป็นคนแก่ เด็ก แมว และสัตว์อื่นๆ มีนิสัยขี้เล่น ร่าเริงรักเด็กขนาดใกล้เคียงกับ Pug และ Boston Terrier

มาตราฐานสายพันธุ์
อุปนิสัย : ฉลาด ร่าเริง ชอบเล่น ตื่นตัวอยู่เสมอ
ศีรษะ : มีขนาดใหญ่คล้ายทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส หัวกะโหลกระหว่างหูค่อนข้างแบน
หน้าผาก : มีลักษณะโค้งเล็กน้อย แก้มมีกล้ามเน้อชัดเจน
หู : มีลักษณะเหมือนหูค้างคาว โคนหูใหญ่ ค่อนข้างยาว ปลายหูกลม โคนหูอยู่ค่อนข้างสูง
ตา : มีสีเข้ม ขนาดปานกลาง ตาค่อนข้างกลม ตาค่อนข้างห่างจากหู ตาไม่ลึกหรือโปน
ดั้งจมูก : มีมุมหักชัดเจนทำให้มีหลุมลึก
ปาก : มีลักษณะกว้างและลึก มุมปากเหนียงและค่อนข้างหนา กรามแข็งแรงขณะหุบปากไม่เห็นฟันยื่นออกมา
จมูก : มีลักษณะสั้น รูจมูกกว้าง จมูกมีสีดำ หรือสีจาง ขึ้นอยู่กับสีของขน
ฟัน : แข็งแรง ขบแบบ UNDERSHOT
ลำตัว : มีลักษณะสั้นกลม เส้นหลังโค้ง บริเวณหัวไหล่ค่อนข้างกว้างบริเวณเอวเล็ก
คอ : มีลักษณะกลมหนา หนังคอบริเวณลูกกระเดือก ค่อนข้างย่น
อก : กว้างและลึก
ขาหน้า : มีกระดูกใหญ่ ขาหน้าค่อนข้าสั้น ขาหน้าประกอบด้วยกล้ามเนื้อขา ขาหน้าตั้งตรงขาหน้าทั้งสองห่างกันพอสมควร เท้าหน้าขนาดพอเหมาะนิ้วเท้าชิด
ขาหลัง : ประกอบด้วยกล้ามเนื้อขาหลังตรง ห่างกันพอประมาณข้อเท้าหลังอยู่ในระดับต่ำ เท้าหลังมีขนาดพอเหมาะนิ้วเท้าชิด เท้าหลังใหญ่กว่าเท้าหน้าเล็กน้อย
หาง : โคนอยู่ในระดับต่ำ หางตรงหรือเป็นเกลียวได้ หางค่อนข้างสั้น
ขน-สี : ขนสั้นนุ่ม ขนมีหลายสี เช่น น้ำตาล ขาว น้ำตาลขาว หนังค่อนข้างย่น
น้ำหนัก : ชนิดเล็กมีน้ำหนักน้อยกว่า 22 ปอนด์ ชนิดใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 22-28 ปอนด์
ข้อบกพร่อง : หูไม่เหมือนค้างคาว สีดำ-ขาว สีดำ-น้ำตาล ตามีสีไม่เหมือนกัน น้ำหนักเกิน 22 ปอนด์



6.German Shepherd (เยอรมันเชฟเฟิร์ด)


(สุนัขตำรวจ *0* แสนเท่)
ถิ่นกำเนิดในประเทศเยอรมัน มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "อัลเซน" ผู้คนนับพันนับหมื่นที่ต้องอยู่ในโลกมืด ได้อาศัยเจ้าเยอรมันเช็พเพอดนี่แหละที่คอยเป็นพี่เลี้ยงนำทางไหนต่อไหนได้ พิทักษ์สันติราษฎร์ในเยอรมันนี แคนาดา ตามตรอกซอกซอยของบัลติมอร์ หรือในสวนสาธารณะของไฮด์ปาร์คที่มืดสลัว ไปด้วยม่านหมอกในใจกลางกรุงลอนดอน ย่อมรู้ดีว่าเขาเป็นเพื่อนร่วมงานรักษากฎหมาย ที่ไม่ย่นระย่ออย่างใดทั้งสิ้น เขาทำหน้าที่เฝ้าเหมืองเพชรในคิมเบอร์ลี่ย์ก็ได้ เฝ้าโรงเรียนในนิวยอร์คก็ได้ หรือให้เฝ้าฐานทัพอากาศที่ทริโปลีก็ได้ ไม่มีใครสามารถคำนวณได้ว่าสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด ได้ช่วยชีวิตคนไว้เท่าไรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่สอง โดยที่การดมกลิ่นหาทหารบาดเจ็บบ้าง ถือสารและลำเลียงเวชภัณฑ์บ้าง คอยเตือนหน่วยลาดตระเวนในป่าต่อการถูกซุ่มโจมตีบ้าง ตลอดจนการตรวจรักษาแนวชายฝั่งทะเลเพื่อกันการก่อวินาศกรรม และค้นหาชาวบ้านที่ถูกซากปรักหักพังทับถมอยู่เนื่องจากการถูกระเบิดทางอากาศ ในยามไม่มีศึกสงคราม มันก็ทำงานเป็นการกุศล เนื่องจากจมูกที่ไวสามารถนำคนค้นหาพวกที่ถูกหิมะถล่ม ฝังเอาไว้ในเทือกเขาแอลป์ของสวิส ในปัจจุบันสุนัขพันธุ์นี้มีรูปร่างที่สวยงาม เฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง เป็นผลมาจากการผสมของสุนัขต้อนแกะหลายชนิดมานับศตวรรษ ซึ่งรวมเอาสุนัขที่มีขนาดย่อมแต่ว่องไวของท้องทุ่งเยอรมันภาคเหนือ กับสุนัขที่โตล่ำสันกว่าของภูมิภาคที่เป็นขุนเขาทางใต้เอาไว้ด้วย แม้จะสิ้นศตวรรษที่ 19 ยุคเลี้ยงแกะของเยอรมันได้สิ้นสุดลง แต่อย่างไรก็ตามนักเพาะพันธุ์สุนัขไม่กี่คนก็ยังพยายามสงวนพันธุ์อันมีคุณสมบัติอันวิเศษในการเลี้ยงแกะเอาไว้ ซึ่งนับว่าควรแก่การยกย่องมากที่สุดได้แก่ ร้อยเอกทหารม้าผู้หนึ่งชื่อ มาร์กฟอนสเตฟานิตช์ ซึ่งได้ลงเรี่ยวลงแรงแข็งขัน เพื่อที่จะทำให้สุนัขพันธุ์นี้เข้ามาตรฐาน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1889 และได้เจริญเติบโตเรื่อยมาจนมาเป็นสโมสรสุนัขที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง โดยการเพาะพันธุ์สุนัขอย่างเดียว จากความพยายามของร้อยเอกฟอนสเตฟานนิตช์กับพรรคพวก ที่ได้พยายามเสาะหาสุนัขที่ใช้งานได้ดีและฉลาด และแล้วผลที่ได้ก็น่าภาคภูมิใจ ที่เมื่อมองสุนัขพันธุ์นี้ขณะที่มันปฏิบัติตามคำสั่งของนายโดยไม่ผิดพลาด

มาตรฐานสายพันธุ์
ลักษณะโดยทั่วไป สิ่งที่ประทับใจของผู้ที่ได้พบเห็นเยอรมันเช็พเพอดที่ดีคือ ความแข็งแรงว่องไว เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อตื่นตัวและมีชีวิตชีวา มองโดยรวมแล้วจะกลมกลืนและได้ส่วนกันระหว่างส่วนหน้าและส่วนท้าย ตัวจะยาวกว่าส่วนสูง ลำตัวลึก เส้นรอบตัวจะเป็นเส้นโค้งที่กลมกลืนแทนที่จะเป็นเหลี่ยมมุม มีขนาดค่อนข้างใหญ่และอ่อนแอ ให้ความรู้สึกไม่ว่าจะอยู่นิ่งหรือเคลื่อนไหวถึงความกระชับของกล้ามเนื้อและการเคลื่อนที่อย่างนุ่มนวล
อุปนิสัย : เยอรมันเช็พเพอดมีบุคลิกที่เด่นชัดคือ มีการแสดงออกถึงความไม่หวาดหวั่นแต่ก็ไม่ก้าวร้าว มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความกระตือรือร้นและตื่นตัวกระฉับกระเฉง เต็มใจจะรับใช้เต็มที่ในลักษณะของการเป็นเพื่อน เป็นสุนัขเฝ้าบ้านนำทางผู้ที่อยู่ในโลกมืด เป็นสุนัขต้อนฝูงสัตว์ หรือทำหน้าที่อารักขา สุนัขจะไม่ขี้ขลาดหรือหลบอยู่หลังผู้เป็นเจ้านาย ไม่ควรจะอ่อนไหว ไม่มองไปรอบๆ หรือแหงนหน้ามอง ไม่แสดงอาการตื่นตระหนก โดยจะหางตกเมื่อได้ยินเสียงหรือมองเห็นสิ่งแปลกๆ หากสันขมีอุปนิสัยดังกล่าวข้างต้นจะถูกตัดสินว่ามีความบกพร่องอย่างร้ายแรง สุนัขจะต้องยอมให้กรรมการตรวจฟันและลูกอัณฑะ ถ้าหากสุนัขกัดกรรมการจะต้องถูกไล่ออกจากสนามประกวด สุนัขที่อยู่ในอุดมคติควรที่จะสามารถใช้งานในลักษณะที่ไม่หยิบโหย่ง ผสมผสานกับลำตัวและการก้าวย่างที่เหมาะกับงานการที่ทำ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน
ศีรษะ : แลดูสง่างาม ถูกสลักเสลาอย่างเรียบร้อย แข็งแรงได้ส่วนกับลำตัว ศีรษะของเพศผู้แลดูล่ำสัน ส่วนเพศเมียก็อ่อนช้อย ปากยาวและแข็งแรง มองจากด้านหน้าหน้าผากจะโค้งเล็กน้อย กะโหลกศีรษะลาดเทยาวเป็นรูปลิ่ม ดั้งจมูกจะไม่หักมาก กรามแข็งแรง
หู : แหลมพอประมาณได้ส่วนกับกะโหลกศีรษะและเปิดไปข้างหน้า และจะตั้งชันเมื่อตั้งอกตั้งใจ หูที่อยู่ในอุดมคติเส้นกลางของใบหูเมื่อมองจากด้านหน้า จะขนานกันและจะตั้งฉากกับพื้น หูที่ถูกตัดหรือห้อยจะต้องถูกคัดออกจากสนามประกวด
ตา : ขนาดปานกลาง รูปร่างเหมือนเมล็ดอัลมอนด์ ตั้งแบบเฉียงเล็กน้อยแต่ไม่โปนออกมา ตาควรจะดำมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ มีแววตาที่ฉลาดและเฉียบแหลม
ฟัน : 42 ซี่ ข้างบน 20 ซี่ ข้างล่าง 22 ซี่ แข็งแรงและสบกันแบบกรรไกร ฟันข้างบนยื่นไปข้างหน้าหรือการสบแบบเสมอเป็นลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ ฟันล่างที่ยื่นไปข้างหน้าเป็นข้อบกพร่องที่ร้ายแรง ถ้าหากฟันซี่อื่นที่นอกเหนือไปจากฟันกรามเล็กก็ถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรงเช่นกัน
คอ : แข็งแรงและเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ ค่อนข้างยาวได้ส่วนกับศีรษะ หนังไม่หย่อนยาน เมื่อสุนัขตั้งใจหรือตื่นเต้นศีรษะจะชูสูง คอจะยืดออก โดยทั่วไปศีรษะจะยื่นไปข้างหน้ามากกว่าชูสูง แต่จะสูงกว่าไหล่เล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเคลื่อนไหว
ส่วนหน้า : แผ่นกระไหล่ยาวและทำมุมเฉียง อยู่ในแนวราบและไม่ยื่นไปข้างหน้า แขนตอนบนเชื่อมกันแผ่นกระดูกไหล่โดยทำมุมราว 90 องศา ขาหน้าไม่ว่าจะมองดูทางไหนก็เหยียดตรง และกระดูกจะเป็นรูปไข่มากกว่ากลม ฝ่าเท้าแข็งแรงและทำมุมราว 25 องศา กับแนวตั้ง
เท้า : สั้นและกระชับ นิ้วโค้งอย่างพอเหมาะ อุ้งเท้าหนาแบะเล็บแน่น สั้นและมีสีดำ ควรตัดนิ้วติ่งที่ขาหลัง แต่นิ้วติ่งที่ขาหน้ามักจะปล่อยให้อยู่อย่างเดิม
ส่วน : สุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดที่นิยมกันจะอยู่ในส่วนของความยาวต่อความสูงอยู่ระหว่าง 10 ต่อ 8.5 ความสูงของสุนัขเพศผู้วัดจากจุดสูงสุดของไหล่อยู่ระหว่าง 24-25 นิ้ว ส่วนเพศเมีย 22-24 นิ้ว ความยาววัดจากกระดูกอกไปยังตอนท้ายของกระดูกสะโพก
ลำตัว : โครงสร้างโดยรวมทำให้เกิดความรู้สึกถึงความลึกและแน่น แต่ไม่เทอะทะ อกควรจะเต็มและลงลึกอยู่ระหว่างขาทั้งสองข้าง อกกว้างมีเนื้อที่มากพอสำหรับหัวใจและปอด ซี่โครงยาวและโค้งไม่เป็นรูปถังเบียร์หรือแบนมากเกินไป และไปจรดส่วนอกลงไปถึงข้อศอก หากซี่โครงอยู่ในลักษณะที่ถูกต้องจะทำให้ศอกหดกลับอย่างอิสระในขณะที่สุนัขกำลังวิ่งเหยาะๆ หากกระดูกซี่โครงโค้งออกมามากเกินไปจะทำให้ข้อศอกกางออก
ท้อง : กระชับ ชายกระเบนเหน็บจะรั้งขึ้นเล็กน้อย
เส้นหลัง : จุดสูงสุดของเส้นหลังจะสูงและค่อยๆ ลาดเท
หลัง : เหยียดตรงแข็งแรงมาก ไม่แอ่นหรือโค้งขึ้น เอวมองจากด้านบนจะกว้างและแข็งแรง ความยาวระหว่างกระดูกซี่โครงซี่สุดท้ายและตะโพกมากเกินไปเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ตะโพกยาวและค่อยๆ ลาดเท
หาง : เป็นพวงข้อกระดูกสันหลัวข้อสุดท้ายอย่างน้อยจะยื่นไปต่อกระดูกขาหลัง หางตั้งอยู่ตรงตะโพกและห้อยลงขณะที่อยู่ในท่าพัก หางจะโค้งเล็กน้อย เมื่อสุนัขตื่นเต้นหรือกำลังเคลื่อนไหวหางจะโค้งและยกขึ้น แต่ไม่ควรโค้งไปข้างหน้าและเลยเส้นตั้งฉาก หางที่สั้นเกินเป็นข้อบกพร่องอย่างมาก หากหางถูกตัดจะถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้ประกวด
ส่วนท้าย : เมื่อมองจากด้านข้าง ตะโพกโดยรวมจะกว้าง ส่วนที่อยู่ระหว่างข้อต่อขาหลังและเท้า สั้นและแข็งแรง
การย่างก้าว : เยอรมันเช็พเพอดเป็นสุนัขที่วิ่งเหยาะๆ โครงสร้างถูกพัฒนามาเพื่อให้เหมาะสมกับการทำงาน การก้าวย่างควรจะเป็นไปด้วยความนุ่มนวล และยื่นเท้าออกไปสุด ราบรื่นและเป็นจังหวะ
สี : ไม่มีสีที่แน่นอน แต่จะนิยมสีเข้มมากกว่า หากจมูกสีอ่อน สีฟ้าหรือเป็นสีตับเป็นข้อบกพร่องที่ร้ายแรง หากขนสีขาวหรือมีจมูกไม่ดำจะถูกห้ามไม่ให้ลงประกวด
ขน : ควรมีขนสองชั้นและยาวปานกลาง ขนชั้นนอกควรจะแน่นมากที่สุดเท่าที่จะแน่นได้ ขนเหยียดตรง หยาบแนบไปกับลำตัว ขนชั้นนอกเป็นลอนเล็กน้อย ศีรษะรวมทั้งข้างในหู หน้าผาก ขาและเท้าจะปกคลุมด้วยขนสั้น ส่วนคอจะปกคลุมด้วยขนที่หนาและยาวกว่า ด้านหน้าของขาหน้าและขาหลังจะมีขนยาวและยื่นไปปกคลุมข้อเท้าและข้อขาหลังตามลำดับ ขนที่นิ่มและคล้ายไหม, ขนชั้นนอกยาวเกินไป, ขนเหมือนขนสัตว์และหยิกเป็นลอนเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์


7.Pug (ปั๊ก)

(พันธ์นี้อาจจะเป็นสุนัขที่หลายคนคงชอบ ฮ่ะๆ ล้อเล่นๆ)
มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศอังกฤษ จัดอยู่ในกลุ่มมาสติฟ (Mastiff) โดยเชื่อกันว่าบูลด็อกเป็นสุนัขกลายพันธุ์มาจากสุนัขพันธุ์ Tibetan Mastiff ที่ดูโครงสร้างภายนอกไม่สมประกอบ มีตำราบางเล่มระบุว่าบูลด็อก สุนัขที่เกิดจากการถูกผู้เลี้ยงดูอย่างทรมาน เพื่อให้ได้มาซึ่งสุนัขที่มีรูปร่างหน้าตาไม่สมประกอบ เช่น การนำวัสดุแข็งๆ มาทำเป็นหน้ากากคลุมหัวบูลด็อกไว้ เพื่อให้มีใบหน้าสั้นผิดปรกติไปจากสุนัขตัวอื่นๆ หรือการยับยั้งการเจริญเติบโตของสุนัขด้วยการขังไว้ในที่แคบๆ จนแทบไม่สามารถกระดิกตัวได้ เพื่อให้สุนัขมีรูปร่างแคระแกร็น

คำว่า บูล (Bull) ซึ่งหมายถึงบูลด็อกเป็นสุนัขที่มีรูปร่างคล้ายวัวขนาดเล็ก ชื่อนี้ได้มาจากการที่ชาวอังกฤษในสมัยยุคก่อนๆ ได้ฝึกสุนัขพันธุ์นี้ไว้เพื่อต่อสู้กับวัว เป็นการยากที่จะหาหลักฐานมาอ้างอิงว่าบูลด็อกกำเนิดมาตั้งแต่เมื่อใด แต่มีข้ออ้างอิงที่เป็นไปได้คือ ในสมัยปี ค.ศ. 1209 ซึ่งตรงกับยุคสมัยของกษัตริย์จอห์น โดยท่านลอร์ดวิลเลี่ยม เอริล์วอร์เรนได้มองเห็นวัว 2 ตัว กำลังต่อสู้กันในสนามหญ้าหน้าวังของท่าน เพื่อแย่งชิงวัวตัวเมียอีกตังหนึ่ง จนกระทั่งฝูงสุนัขเลี้ยงวัวของคนเลี้ยงวัวได้ออกมาขับไล่วัวคู่นั้นออกไปจากบริเวณสนาม ท่านลอร์ดมีความยินดีมากและเกิดความคิดที่ว่าจะให้มีเกมกีฬาชนิดใหม่ขึ้นมา คือกีฬาสุนัขต่อสู้กับวัว ซึ่งต่อมาก็เป็นกีฬาที่นิยมกันมากในประเทศอังกฤษ

บูลด็อกโดยมากจะได้รับการฝึกให้มีนิสัยก้าวร้าวดุร้าย โดยเจ้าของสุนัขจะลงโทษด้วยวิธีการที่เจ็บปวด จึงทำให้บูลด็อกในอดีตมีนิสัยที่ดุร้าย ในการต่อสู้ในเกมกีฬาที่แสนหฤโหดและนองเลือด บูลด็อกจะถูกปล่อยลงสนามให้ต่อสู้กับวัวที่กำลังบ้าคลั่ง โดยมันจะบุกโจมตีบริเวณใบหูของวัว และกัดอยู่นานจนกว่าจะล้มวัวตัวนั้นได้ ต่อมาก็ได้มีการผสมพันธุ์เจ้าหน้าแก่นี้เสียใหม่ให้มีตัวเล็กลง เพื่อความว่องไวและปราดเปรียว ขณะเดียวกันจมูกที่เคยโด่งออกก็ถูกผสมให้แนบแบนติดกับใบหน้าเสีย เพราะจะทำให้มันโจมตีคู่ต่อสู้ได้นานกว่าเดิม

ยุคแรกๆ ของบูลด็อกมีขายาวกว่าพันธุ์ที่เห็นในปัจจุบัน แต่กระดูกเบากว่า ปากใหญ่และกะโหลกศีรษะเล็กกว่าทุกวันนี้ หูก็มีลักษณะตูบเล็กเพื่อความทนทานในการเสียดสีเมื่อต่อสู้ อีกประการหนึ่งก็คือหางยาวและม้วนพอง มีไว้ให้เจ้าของดึงออกจากคู่ต่อสู้ขณะต่อสู้อยู่

แต่แล้วยุคเสื่อมของบูลด็อกก็มาถึง เมื่อกีฬาต่อสู้กับวัวเสื่อมความนิยมลง โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 1835 กีฬาการต่อสู้สุนัขถูกบัญญัติให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย บูลด็อกจึงค่อยๆ หมดความหมายและพลอยถูกลืมเลือนไปด้วย ช่วงเวลาของความรุ่งโรจน์แห่งเผ่าพันธุ์ก็เริ่มหมดลง จำนวนของบูลด็อกก็ได้ลดลงไปมาก แต่โชคดีที่มีคนรักสุนัขและเสียดายในสายพันธุ์ได้ยื่นมือเข้ามาอนุรักษ์สายเลือดนี้ไว้ แม้ว่าความดุร้ายจะเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา แต่คงลักษณะที่ดีๆ อย่างอื่นเอาไว้ จากหลักการนี้บูลด็อกจึงได้รับการคัดเลือกพันธุ์ตามวิธีการที่ถูกต้อง ภายในเวลาเพียงไม่กี่รุ่นก็ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งมีการประกวดบูลด็อกขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1859 และในปี ค.ศ. 1864 ก็ได้ตั้งสมาคมอนุรักษ์สุนัขพันธุ์บูลด็อกขึ้น บูลด็อกยังคงลักษณะที่ดีเด่นเอาไว้ครบถ้วน แต่ความโหดร้ายดุดันดั้งเดิมได้ถูกตัดออกไป จนถึงบัดนี้บูลด็อกได้รับการยกย่องเป็นสุนัขประจำชาติอังกฤษ เนื่องจากความอดทนกล้าหาญและความเด็ดเดี่ยวของมัน วิญญาณของความเป็นนักสู้ในอดีตยังคงปรากฏให้เห็น แม้ว่าวันเวลาที่ผ่านไปจะทำให้มันเกิดเชื่องช้าลงบ้างก็ตาม

มาตราฐานสายพันธุ์

ลักษณะทั่วไป : บูลด็อกที่สมบูรณ์แบบต้องมีขนาดปานกลาง รูปรางบึกบึนและหนา กระดูกและกะโหลกศีรษะมีขนาดใหญ่มาก หน้าสั้น ใหญ่ กว้าง บริเวณหน้าผากมีรอยย่นลึก ตาอยู่ในตำแหน่งห่างจากใบหู กล้ามเนื้อหนังตาบนจะย่นเหมือขมวดคิ้วอยู่ตลอดเวลา ริมฝีปากหนาและกว้าง มีกล้ามเนื้อหนาแน่น แขน ขาล่ำสัน แข็งแรง แผ่นหลังโค้งเล็กน้อย และจะยกสูงบริเวณสะโพก ลำตัวส่วนท้องจะคอด กระดูกซี่โครงมีลักษณะห่อกลมคล้ายมะขามป้อม ตะโพกค่อนข้างเล็ก หางสั้นและขดแน่นกับส่วนหลัง ด้านอุปนิสัยมีความทรหดอดทน อารมณ์คงที่มั่นคงอย่าเสมอต้นเสมอปลาย มีความตั้งใจแน่วแน่ กล้าหาญ พฤติกรรมที่แสดงออกเป็นไปอย่างสงบและสง่า ท่าทางการเดินมีลักษณะแปลกเฉพาะตัว คล้ายข้อต่อกระดูกไม่แข็งแรง เหมือนการลากไป มีลักษณะการเคลื่อนที่ไปทางด้านข้างคล้ายการกลิ้งไป แต่อย่างไรก็ตามการเคลื่อนที่ต้องไม่เกร็ง เป็นอิสระและเข้มแข็ง
ศีรษะ : ควรมีขนาดใหญ่ เมื่อวัดรอบศีรษะ โดยวัดจากด้านบนลงล่างผ่านใบหูควรจะมีความยาวมากกว่าความสูงของตัว เมื่อมองจากด้านหน้าศีรษะควรสูงมาก เมื่อมองจากมุมของขากรรไกรล่างไปถึงจุดสูงสุดของกะโหลกกว้างมากเป็นสี่เหลี่ยม เมื่อมองจากด้านข้างศีรษะอยู่สูงมาก และจากจมูกถึงท้ายทอยสั้นมาก หน้าผากควรมีรอยย่นลึกเป็นแนว และมีเส้นผ่าลึกลงมาจากส่วนบนมายังจมูกและปาก
จมูก : จมูกควรใหญ่ แลดูกว้างแต่สั้น ปลายจมูกควรจะมีรอยย่นลึก จมูกมีเส้นแบ่งเขตแนวชัดเจน รูจมูกใหญ่และเชิด จมูกควรจะมีสีเข้ม หากเป็นสีดำสนิทได้ยิ่งดี จมูกสีอื่นที่ไม่ใช่สีดำไม่เป็นที่นิยม จมูกแดงเป็นสีเดียวกับสีผิวถือว่าผิดลักษณะ และถ้าจมูกเป็นสีชมพูถือว่าเป็นจุดด้อยอย่างมาก นอกจากนี้จมูกต้องไม่แห้งหรือเปียกชุ่มเกินไป
ปาก : ริมฝีปากบนควรหนา กว้างและลึกมากห้อยลงมาปิดกรามล่างได้มิดชิด หากมองจากด้านข้างจะปิดริมฝีปากล่างและฟันมิดชิด แผ่นหลังที่หุ้มปากทั้งสองด้านควรมีขนาดใหญ่และยาวเท่าๆ กัน ขากรรไกรล่างใหญ่กว้าง เป็นสี่เหลี่ยมยื่นเลยขากรรไกรบนและงอนขึ้น
ฟัน : ฟันควรอยู่ครบ 42 ซี่ ฟันล่างจะเกยอยู่ด้านนอก ฟันที่ดีต้องซี่ใหญ่แข็งแรงมั่นคง ฟันที่ยื่นออกมาต้องไม่มีลักษณะโค้งงอ ฟันเขี้ยวอยู่ห่างจากกัน ฟันตัด 6 ซี่ที่อยู่ด้านหน้าระหว่างฟันเขี้ยวอยู่ในแนวระดับเดียวกัน เวลาอ้าปากจะเห็นฟันซี่เล็กๆ 6 ซี่ทางด้านหน้า เวลาหุบปากไม่ควรจะให้เห็นฟันจึงจะดี และฟันควรขาวสะอาด
ตา : ดวงตาควรมีลักษณะกลม ขนาดปานกลาง ไม่จมลึกหรือยื่นออกมามากเกินไป เมื่อมองจากด้านหน้าจะฝังอยู่ในกะโหลกศีรษะ อยู่ห่างจากหูมาก และตาทั้ง 2 ข้างไม่ควรอยู่ห่างกันมากนัก สีลูกตาควรเป็นสีเข้ม หนังตาปิดตาขาว
หู : ฐานหูทั้ง 2 ข้างควรจะยกสูงและควรจะอยู่ในตำแหน่งที่สมดุลกัน ใบหูควรเล็กและบาง ปลายหูควรพับลงมาแนบกับศีรษะ ควรอยู่ห่างจากตาพอเหมาะ ลักษณะใบหูที่ดีควรมีลักษณะโคนตั้งปลายตกหรือกับกลีบดอกกุหลาบ ซึ่งเป็นที่นิยมสูงสุด หูไม่ควรตั้งตรงและไม่ควรตกลงมาทั้งหมด
คอ : เนื่องจากบูลด็อกเป็นสุนัขที่มีส่วนหัวใหญ่ ลำคอจึงควรใหญ่หนา สั้นและแข็งแรง และเป็นส่วนโค้งทอดไปยังส่วนหลัง หนังใต้ลำคอจะหย่อนลงมาเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ควรปล่อยให้ยาน เพราะถ้ายานและมีหนังหย่อนมามากแสดงว่ากำลังอ้วนเป็นพะโล้ แก้ไขโดยการออกกำลังกายบ่อยๆ
ไหล่ : หัวไหล่ควรมีขนาดใหญ่ กว้างและมีมัดกล้ามเนื้อหนา ก่อให้เกิดความสมดุลและพละกำลังมาก
อก : กว้างมาก ลึกและเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ เห็นกล้ามเนื้อที่อกได้ชัดเจน ซี่โครงโค้งกลมจากหัวไหล่จนไปถึงจุดต่ำสุดของหน้าอก ทำให้สุนัขมองดูมีลักษณะกว้าง เตี้ยและขากว้าง
ลำตัว : แข็งแรงกำยำ เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ ไม่ควรผอมจนเห็นซี่โครงและไม่ควรอ้วนจนมองไม่เห็นกล้ามเนื้อบริเวณท้องน้อยควรจะขอดเล็กน้อย แนวสันหลังควรสั้นและแข็งแรง บริเวณที่ไหล่กว้างมากและค่อนข้างแคบ บริเวณบั้นท้ายซึ่งเป็นจุดที่ควรสูงกว่าความสูงที่ไหล่และมีความโค้งลาดต่ำอีกครั้งลงไปที่หาง ซึ่งเป็นลักษณะที่เด่นชัดมากสำหรับสุนัขพันธุ์นี้ จึงเรียกว่าหลังแมลงสาบหรือหลังวงล้อ
สะโพก : ควรจะโค้งมนได้รูป ส่วนก้นกลมและไม่มีกระดูกโปนออก
ขาหน้า : ควรสั้น สุนัขพันธุ์นี้มีขาหน้าที่สั้นกว่าขาหลัง ดังนั้นเมื่อสุนัขยืนจะทำให้ช่วงหน้าของลำตัวต่ำกว่าบั้นท้าย ขาที่ดีต้องแข็งแรง กระดูกขาใหญ่ ต้นขาเต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อ ขาหน้าเวลายืนควรอยู่ห่างกัน ช่วงบนของขาหน้าแลดูเป็นวงโค้ง ข้อศอกควรอยู่ห่างจากลำตัว เท้าและนิ้วเท้าใหญ่พอประมาณแลดูกระทัดรัด เล็บที่ขาควรมีสีเข้มและควรเป็นสีเดียวกันกับขนบนลำตัว
ขาหลัง : แข็งแรง เต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อและยาวกว่าขาหน้า เวลายืนตะโพกจะเชิดสูงทำให้ดูหลังแอ่น ส่วนขาควรสั้นและแข็งแรง ลักษณะของเท้าที่ดี ข้อเท้าที่ขาหลังควรจะหันออกจากลำตัวเล็กน้อย ขาหลังควรบิดออกเล็กน้อย
เท้า : ควรมีขนาดปานกลาง กระทัดรัดและแข็งแรง ปลายเท้าหน้าอาจตรงหรือเปิดออกเล็กน้อย แต่ขาหลังควรยื่นออกด้านนอก
หาง : อาจตรงหรือเป็นเกลียว แต่ไม่โค้งหรือม้วน หางต้องสั้น ห้อยต่ำ โคนหางใหญ่ ปลายเล็ก ถ้าหางเป็นเกลียว การม้วนหรือขมวดของหางจะมีลักษณะเป็นเกลียวคล้ายก้นหอยแต่ต้องไม่หงิกงอ ปลายหางไม่ควรม้วนลงไปถึงโคนหาง
ขน : ขนควรสั้นและเหยียดตรงแบนราบกับลำตัว สีของขนควรสม่ำเสมอ สะอาดสดใสและดูเป็นมันเงา ขนต้องไม่ยาวหรือขึ้นเป็นลอน
ผิวหนัง : อ่อนนุ่มและไม่ตึง โดยเฉพาะที่หัว คอและหัวไหล่ รอยย่นและเหนียงตรงคอ ศีรษะและหน้าควรปกคลุมด้วยรอยย่นขนาดใหญ่ และที่คอจากขากรรไกรจนถึงหน้าอกควรจะมีรอยย่นที่ห้อยออกมาเป็น 2 แนว
สี : สีขนของบูลด็อกมีหลายสี สำหรับสีขนที่ถือเป็น 2 สีในตัวเดียวกัน ในสุนัขที่มี 2 สี แต่ละสีควรเป็นสีเดียวที่บริสุทธิ์ไม่มีสีอื่นเจือปนให้เป็นสีผสม และควรมีการกระจายสีในลักษณะที่สมดุล บูลด็อกที่มีสีดำทั้งตัวไม่เป็นที่นิยม แต่ก็ไม่ถึงกับไม่เป็นที่ยอมรับ สำหรับบูลด็อกที่มีสีนอกเหนือจากที่กล่าวมาในข้างต้นถือว่าใช้ไม่ได้
การเดินการวิ่ง : ถึงแม้จะดูอืดอาดเชื่องช้าเวลาเดินต้องส่ายสะโพกไปมา ลักษณะการก้าวย่างควรดูอิสระ คล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง ไม่อืดอาดเวลาเดิน ลำตัวต้องไม่แกว่งมาก จนดูเหมือนไม่มีกระดูก
น้ำหนักและส่วนสูง: เพศผู้ควรมีน้ำหนักอยู่ในช่วงระหว่าง 24-25 กิโลกรัม เพศเมียอยู่ในช่วง 22-23 กิโลกรัม ส่วนความสูงเพศผู้ควรอยู่ระหว่าง 16-18 นิ้ว และเพศเมียควรสูง 12-15 นิ้ว
ข้อบกพร่อง : จมูกมีสีเนื้อหรือจมูกเผือก



8.Shih Tzu (ชิสุ)

(น่าร้ากกก)

Shin Tzu สันนิษฐานว่าสุนัขพันธุ์ชิห์สุมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน โดยใช้เป็นสัตว์เลี้ยงของพระจักรพรรดิ์ และเชื้อพระวงศ์ในพระราชสำนักในราชวงศ์หมิงและราชวงศ์แมนจู หลังจากนั้นได้มีการนำมาเลี้ยงในที่ต่างๆ ทั่วอังกฤษและยุโรป

สุนัขพันธุ์ชิห์สุ, ชิสุห์, SHIN TZU, SHIH-TZU

ลักษณะทั่วไป
เป็นสุนัขขนาดเล็ก ขนยาวจรดพื้น โครงสร้างมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวลำตัวมากกว่าความสูง กว้างและลึก เส้นกลางหลังตรงไม่โค้ง ศีรษะมีลักษณะกว้างกลม จมูกและปากสั้นยาวไม่เกิน 1 นิ้ว บริเวณหน้าไม่มีรอยย่น รอยต่อระหว่างปากและหน้าเป็นมุมหักที่ชัดเจน ตามีลักษณะกลมโต นัยน์ตาสีเข้ม ตาไม่ยื่นโปนออกมา หูมีขนาดใหญ่และยาวปรกลงทั้ง 2 ข้าง ฟันหน้าบนและล่างขบกันพอดี หรือฟันล่างขบอยู่ด้านนอก หางม้วนงอวางพาดอยู่บนแผ่นหลังและขนยาวปรกคลุม


นิสัย
ชิห์สุเป็นสุนัขที่มีนิสัยขี้เล่น อ่อนโยน ชอบเล่นกับเด็ก


ขนาด


ขนาด เพศผู้ เพศเมีย
ความสูง (เซนติเมตร) 9 - 11 9 - 11
น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) 4-7 4-7

ขน
สุนัขชิห์สุที่ดีควรมีขนที่ยาวจรดพื้น เส้นขนอ่อนนุ่ม ดกแน่น และมีลักษณะเหยียดตรงไม่หยิกงอ และขนชั้นในควรมีเส้นเล็กนุ่มและสั้นกว่าขนชั้นนอก ขนบริเวณศีรษะควรยาวจนสามารถรวบเป็นกระจุกได้


สี
มีได้หลายสี ตั้งแต่ สีขาว ดำ เทา น้ำตาล และเทาแกมแดง 2 - 3 สี และมักมีมาร์คกิ้งเป็นสีขาว บริเวณใบหน้า ไหล่ สะโพก และปลายหาง

สุนัขพันธุ์ชิห์สุ, ชิสุห์, SHIN TZU, SHIH-TZU

ลักษณะบกพร่อง
1. ศีรษะเล็กและแคบเกินไป
2. ฟันหน้าชุดบนขบเกยอยู่ด้านนอกฟันล่าง
3. ขนสั้น หรือหยิก
4. จมูกและปากยาวเกินไป
5. ขนบางไม่ดกแน่น





9.Dachshund (ดัชชุนด์)


สุนัขดัชชุนด์ เป็นสุนัขที่อยู่ในกลุ่มฮาวด์มีรูปร่างที่กระทัดรัด ฉลาด ขี้ประจบ ลำตัวยาวดูแปลกตาจึงเป็นที่รู้จักกันในนาม "สุนัขไส้กรอก" ชื่อดัชชุนด์ (dachs หมายถึงสัตว์ชนิดหนึ่ง hund หมายถึงสุนัข ) ปรากฎในหนังสือเกี่ยวกับการล่าสัตว์ในยุโรปสมัยกลาง เป็นสุนัขที่มีความคล้ายคลึงสุนัขฮาวด์ในการแกะรอย และมีรูปร่างและอารมณ์คล้ายสุนัขเทอร์เรียร์ มีความสามารถในการติดตามตัวแบดเจอร์ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าชนิดหนึ่งอาศัยอยู่ใต้ดินและมักจะออกมาหาอาหารตอนกลางคืน จึงมักถูกเรียกว่าสุนัขแบดเจอร์

ด้วยความแข็งแรงและทรหด บวกกับความฉลาดและกล้าหาญ ทั้งบนและใต้พื้นดิน สุนัขดัชชุนด์หลายตัวรวมกันสามารถเข้าต่อกรกับหมีป่าได้อย่างสบาย ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้จึงมีการปรับปรุงพันธุ์เพื่อใช้ในเกมล่าสัตว์แบบอื่นๆ สุนัขดัชชุนด์ขนาดเล็กที่มีน้ำหนัก 16 - 22 ปอนด์ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับสุนัขจิ้งจอก และในการแกะรอยกวางที่ได้รับบาดเจ็บ สุนัขขนาดนี้ได้กลายมาเป็นที่รู้จักกันดีในอเมริกา สุนัขที่มีขนาดเล็กกว่า โดยมีน้ำหนัก 12 ปอนด์ ถูกนำมาใช้ล่าสัตว์ป่าชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า "Stoat" มีขนาดเล็ก มีขนสีน้ำตาล อาศัยอยู่ในยุโรปตอนเหนือ

การนำเข้าสุนัขพันธุ์ดัชชุนด์มายังประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นมาก่อนการจัดโชว์สุนัขอเมริกาครั้งแรก สุนัขที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกใช้ในการล่าสัตว์น้อยมากเพราะว่าไม่ค่อยมีตัวแบดเจอร์และหมีป่า และไม่มีการล่ากวางด้วยสุนัข รวมทั้งไม่มีการล่าสุนัขจิ้งจอกด้วยการดมกลิ่น ลักษณะและรูปร่างที่ถูกต้องของสายพันธุ์ได้รับการส่งเสริม โดยการนำเข้าสายพันธุ์ที่ใช้ในการล่าสัตว์ของเยอรมันและเพื่อส่งเสิรมความสามารถในการล่าสัตว์ รวมถึงรูปร่างและอารมณ์ที่ดีเลิศ ความสามารถในภาคสนามตามกฎของ AKC ได้รับการกำหนดขึ้นในปี 1935

ลักษณะพิเศษของสายพันธุ์ มีศีรษะที่ยาว และจมูกที่มีการพัฒนาอย่างดี กระดูกเชิงกรานและกระดูกขาได้มุมอย่างเหมาะสมท่าทางการเดินก่อให้เกิดช่องว่าง ขนาดใหญ่สำหรับปอดและหัวใจ แต่ไม่กว้างจนเกินไป ผิวหนังยืดหยุ่นและอ่อน สำหรับการเคลื่อนที่อย่างอิสระในพื้นที่จำกัดใต้ดิน ขากรรไกรที่ค่อนข้างยาวและมีพละกำลังพร้อมฟันที่แข็งแรง คอยาวและแข็งแรงเสมือนเป็นข้อมือของนักดาบ ขาทรงพลังและเท้าที่แข็งแรงเพื่อการขุดดิน และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดความกล้าหาญอันสูงล้ำ ที่ทำให้ตอบสนองต่อการเข้าโจมตีหรือการป้องกันโดยปราศจากการทะเลาะวิวาท หรือการก้าวร้าวที่ไม่พึงปรารถนา

สุนัขดัชชุนด์ ซึ่งเด่นที่สุดในอเมริกามีขนาดเล็กเพียงพอที่จะอาศัยอยู่ในบ้านหรืออพาร์ทเมนต์ แม้กระนั้นก็มีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับพาไปเดินตามท้องถนน การที่มีขาสั้น รูปร่างเพรียว ขนสั้นจึงไม่ต้องการการถอนขน การตัดแต่งขน การแปรงขน การหวี การใส่น้ำมัน และไม่ต้องอาบน้ำ เว้นแต่เพื่อชำระล้างความสกปรกที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญเท่านั้นเมื่ออยู่นอกอาคาร ดัชชุนด์มีความทรหดแข็งแรง ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เมื่ออยู่ในอาคารเขาจะแสดงความรักความอบอุ่นและตอบสนองต่อความเป็นเพื่อนที่ดี ตื่นตัวในการที่จะบอกให้เราทราบเมื่อมีคนแปลกหน้าเข้ามาสายพันธุ์มีขน 3 ประเภทให้เลือก มีขนาดมาตรฐานและเล็กจิ๋ว มีสีแดง สีดำ สีแทนและสีอื่นๆ

ลักษณะพิเศษของขนที่แตกต่างกัน 3 ชนิด1. ขนสั้น (หรือขนเรียบ) 2. ขนลวด 3. ขนยาว ซึ่ง ทั้ง 3 ชนิดนี้ควรเป็นไปตามลักษณะมาตรฐานที่ได้กล่าวมาแล้ว ขนยาวและขนสั้นเป็นชนิดที่มีมานาน เป็นพันธุ์ที่อยู่ตัวดีแล้ว แต่ในชนิดลวด เลือดของพันธุ์อื่น ได้ผสมเข้ามาอย่างมีวัตถุประสงค์ แม้กระนั้นในการผสมพันธุ์สิ่งเน้นที่สำคัญที่สุดต้องอยูที่การให้เป็นไปตามชนิดของดัชชุนด์ทั่วไป ลักษณะดังต่อไปนี้ นำมาใช้แยกชนิดกันตามลำดับ

ประเภทของดัชชุนด์
  1. ดัชชุนด์ขนสั้นและเรียบ ขน สั้น หนา เรียบ และมีประกาย ไม่มีบริเวณที่ขนหลุดล่วงเหลือแต่หนัง ข้อบกพร่องพิเศษ คือขนละเอียด,บาง,หยาบเหลือหนาเกินไปหางค่อยๆ เรียวเล็กลงทีละน้อยไปทางปลายหาง มีขนดีแต่ไม่ถึงกับดกมาก ยาวเรียว ขนหนาหยาบที่ด้านล่างถือว่าเป็นแถบของขนที่กำลังขึ้นงอกงาม มิใช่ข้อบกพร่อง

    สีของขน จมูกและเล็บ ดัชชุนด์สีเดียว กลุ่มนี้รวมถึงสีแดง เหลืองแดง เหลือง และลายเทา อาจจะมีหรือไม่มีขนสีดำกระจายอยู่ สีที่สะอาดเป็นสีที่นิยมมากกว่าสีแดง เป็นที่นิยมมากกว่าสีเหลืองแดงหรือสีเหลือง จุดขาวเล็กเป็นที่ยอมรับได้ แต่ก็ไม่เป็นที่ต้องการ จมูกและหางดำ สีน้ำตาลเป็นที่ยอมรับได้แต่ก็ไม่เป็นที่ต้องการ ดัชชุนด์ 2 สี จะประกอบด้วยสีดำเข้ม ช็อคโกแลต เทา (น้ำเงิน) และขาว แต่ละแบบจะมีแต้มสีแทนเหนือตาด้านข้างขากรรไกรและใต้ริมฝีปาก ด้านในของหู ด้านหน้าหน้าอก ด้านในและด้านหลังของขาหน้า ที่อุ้งเท้า และรอบก้น และจากตรงนั้นไปถึงประมาณหนึ่งในสาสมถึงหนึ่งในสองของคสามยาวของหางที่อยู่ด้านล่าง ชนิด 2 สีที่แพร่หลายมากที่สุดตามปกติจะเรียกว่าดำและแทน จุดสีขาวขนาดเล็กยอมรับได้ แต่ไม่พึงต้องการ จมูกและเล็บจะมีสีน้ำตาล สำหรับสุนัขสีเทา(น้ำเงิน) หรือขาว สีเทา หรือแม้แต่สีเนื้อ ในกรณีของสุนัขสีขาว จมูกและเล็บสีดำจะเป็นที่นิยมมากกว่า
  2. ดัชชุนด์ขนลวด ลักษณะโดยทั่วไปเป็นแบบเดียวกับดัชชุนด์ขนสั้นแต่ขาไม่ยาว ยอมให้ลำตัวสูงกว่าพื้น ขนทั้งลำตัวยกเว้นขากรรไกร คิ้ว หู ปกคลุมไปด้วยขนแข็ง หยาบ หนา สั้น เหมือนกันหมดทั้งลำตัว แต่มีขนที่สั้นกว่าและละเอียดกว่ากระจายอยู่ระหว่างขนที่หนา มีเคราอยู่ที่คาง ขนคิ้วเป็นพุ่ม ที่ตรงบริเวณหูขนจะสั้นกว่าที่ลำตัว แต่กรณีใดๆ เป็นไปตามส่วนที่เหลือของขน การจัดเรียงตัวโดยทั่วไปของขน เมื่อจากระยะไกลคงคล้ายขนเรียบ ขนที่มีความนุ่มชนิดใดๆก็ตามเป็นข้อบกพร่อง
  3. ดัชชุนด์ขนยาว ลักษณะที่เด่นชัดที่ทำให้สุนัขชนิดนี้ แตกต่างจากดัชชุนด์ขนสั้นหรือขนเรียบ คือเฉพาะขนแพรไหมที่ค่อนข้างยาว ขนนุ่มเรียบเป็นประกาย ขนที่หยิกเล็กน้อย ควรมีความยาวกว่าที่บริเวณใต้คอ ที่ด้านล่างของลำตัวโดยเฉพาะที่หูและหลังขาเป็นลักษณะขนยาว ขนควรมีความยาวที่ด้านใต้หาง ขนยาวพ้นขอบด้านล่างของหู ขนสั้นที่หูเรียกว่า "หนัง" ไม่เป็นที่นิยม การที่มีขนมากเกินไปทำให้ดัชชุนด์ขนยาวจะดูขนหยาบกระด้างและปิดบังชนิดของพันธุ์

    ดัชชุนด์จิ๋ว ดัชชุนด์ขนาดจิ๋วที่มีการผสมพันธุ์ในขนทั้ง 3 ประเภทภายในขีดจำกัดที่กำหนด มีลักษณะเหมือนดัชชุนด์ทั่วไปแต่ย่อส่วนลง ด้านจิตใจและร่างกายควรเป็นลักษณะที่เด่นชัดที่สุดของดัชชุนด์จิ๋วมิได้มีการแยกออกไปต่างหาก แต่เป็นกลุ่มของสุนัข สำหรับขนาดต่ำกว่า 10 ปอนด์ และ 12 เดือนขึ้นไป


มาตราฐานสายพันธุ์
  • ลักษณะทั่วไป : รูปร่างเตี้ย ขาสั้น ตัวยาว แต่มีการพัฒนาของกล้ามเนื้อที่แน่นและแข็งแรง ลักษณะการเชิดศีรษะเต็มไปด้วยความกล้าหาญและมั่นใจ สีหน้าแสดงออกซึ่งความฉลาด ทั้งๆ ที่ขาสั้นเมื่อเทียบกับความยาวของลำตัว แต่ดัชชุนด์ไม่เคยแสดงออกถึงลักษณะของความพิการ งุ่มง่ามหรือยืดยาดในการเคลื่อนไหว มีความฉลาด สดใสและกล้าหาญโดยไม่คำนึงถึงอันตราย มุ่งมั่นในการทำงานทั้งบนดินและใต้ดิน ประสาทสัมผัสทั้งหมดพัฒนาอย่างดี มีคุณสมบัติพิเศษสำหรับเกมการล่าสัตว์ใต้ดิน นอกจากนี้ ยังเต็มไปด้วยจิตวิญญาณในการล่าสัตว์ รูปร่างและจมูกที่เหมาะสม ทำให้ได้เปรียบเหนือพันธุ์อื่นทั้งหมดของสุนัขที่ใช้ในกีฬาการสะกดรอย
  • ศีรษะ : เมื่อดูจากด้านบนหรือด้านข้าง ศีรษะจะค่อยๆ เรียวเล็กลงอย่างสม่ำเสมอไปยังปลายของจมูก เห็นเป็นเส้นชัดเจน กะโหลกศีรษะกลมเล็กน้อย และควรลาดเอียงทีละน้อยโดยไม่มีสต๊อป ไปยังแนวสันจมูกกระดูกเหนือตายื่นออกมาอย่างเห็นได้ชัด ปลายจมูกยาวและแคบ ริมฝีปากยึดออกไปคลุมขากรรไกรล่าง แต่ไม่ลึกหรือยื่นออกมา มุมปากไม่มีเครื่องหมายชัดเจน จุดเชื่อมต่อของขากรรไกรบนและล่างอยู่ด้านหลังของตา
  • ฟัน : ฟันเขี้ยวมีพลังมาก ประกบกันได้สนิท และด้านนอกของฟันกัดด้านล่าง ควรสัมผัสกับด้านในของฟันบนอย่างสนิท
  • ตา : ขนาดปานกลาง รูปไข่ ตั้งอยู่ด้านข่าง แสดงออกถึงความฉลาด มีพลัง ร่าเริง ไม่ดุดัน สีน้ำตาลออกแดง จนถึงดำออกน้ำตาล สำหรับขนทุกชนิดและทุกสี ตาซึ่งเป็นสีขาวหรือสีขุ่นในกรณีของสุนัขลายต่าง ไม่เป็นข้อบกพร่องที่รุนแรงมากนัก แต่เป็นลักษณะที่ไม่พึงปรารถนา
  • หู : ไม่อยู่ใกล้ส่วนบนของศีรษะ ไม่ค่อนไปข้างหน้ามากเกินไป ยาวแต่ไม่ยาวมาก ไม่แคบตั้ง หรือม้วนการเคลื่อนไหวของหูมองดูมีชีวิตชีวา และขอบด้านหน้าแตะกับแก้มพอดี
  • คอ : ค่อนข้างยาว มีมัดกล้ามเนื้อ ไม่มีผิวหนังยาน หย่อนตรงคอหอย ขยายออกอย่างสวยงามไปยังไหล่ แสดงความองอาจแต่ไม่แข็ง
  • หัวไหล่ : ยาว กว้าง ลาดเอียงและตั้งอยู่อย่างมั่นคงบนส่วนอก มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง
  • ขาหน้า : ขาหน้าท่อนบน มีความยาวเท่ากับแผ่นไหล่ และทำมุมฉากกัน กระดูกแข็งและเต็มด้วยกล้ามเนื้ออยู่แนบชิดกับซี่โครง สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นอิสระ ขาหน้าจะสั้นเมื่อเทียบกับพันธุ์อื่นๆ อุ้งเท้าหนา กว้างด้านหน้า และเอียงออกด้านนอกเล็กน้อย อัดแน่นนิ้วเท้างุ้มสวยงาม และอุ้มเท้าควรแนบชิดติดกัน มีเล็บที่แข็งแรงด้านล่างมีอุ้งเล็บที่แข็ง ติ่งเล็บอาจต้องถูกตัดออกไป
  • ลำตัว : โดยทั่วไปต้องยาว และเต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อกระดูกเชิงกรานแข็งแรง อยู่ในแนวตรงที่สุดที่เป็นไปได้ ระหว่างจุดสูงสุดของไหล่ หน้าอกเป็นรูปไข่ และยืดขยายไปด้านล่างไปจนถึงจุดกึ่งกลางของขาหน้าโครงสร้างของกระดูกซี่โครง เต็มและเป็นรูปไข่ เมื่อมองจากด้านบนหรือจากด้านข้าง จะเห็นเต็ม เพื่อให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ เป็นตำแหน่งของหัวใจและปอดกระดูกซี่โครงกลมโค้งแล้วค่อยๆ ประสานกลมกลืนเข้ากับเส้นท้อง ถ้าความยาวถูกต้อง ขาหน้าเมื่อมองดูจากด้านข้างควรปิดคลุมจุดที่ต่ำสุดของเส้นอก เส้นท้องสูงขึ้นเล็กน้อย
  • ส่วนท้าย : เมื่อมองดูจากด้านหลัง ควรเท่ากับด้านกว้าง สะโพก ยาว กลม เต็ม กล้ามเนื้อแข็งแรง แต่อ่อนนิ่มแบบพลาสติก เพียงแต่ค่อยๆ จมหายไปทางหาง กระดูกเชิงกราน ไม่สั้นมาก แข็งแรง กระดูกต้นขา แข็งแรงและมีความยาวพอดี ทำมุมฉากกับกระดูกเชิงกราน ขาหลัง แข็งแรงและมีมัดกล้ามเนื้อ ข้อเข่า กว้างและแข็งแรง กระดูกน่อง เมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์อื่น จะมีขนาดสั้น ตั้งฉากกับกระดูกต้นขา และกล้ามเนื้อแข็งแรงอุ้งเท้าหลัง งุ้มอย่างสวยงาม และแนบชิดติดกันทั้ง 4 นิ้ว เท้าทั้งหมดควรวางในลักษณะเท่ากัน
  • หาง : อยู่ในแนวต่อเนื่องกับกระดูกสันหลัง ยืดออกไปโดยไม่มีส่วนโค้งมากนัก และไม่ควรชูหางในลักษณะร่าเริงเกินไป


10.Pomeranian (ปอมเมอเรเนียน)


(เค้าขอเดิ้นด้วยคน > <)

ปอมเมอเรเนียนเป็นสุนัขพันธุ์เล็ก มีขนนุ่มปุกปุย มีหัวเป็นรูปลิ่ม หูตั้งชี้ขึ้น บรรพบุรุษปอมเมอเรนียนย้อนกลับไปถึงยุคก่อนคริสตกาล พบภาพวาดในแผ่นหินและรูปหล่อสัมฤทธิ์ตามโลงศพที่พบในอียิปต์ พบโครงกระดูกสุนัขพันธุ์เล็กคล้ายพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ในอุโมงค์ที่บรรจุศพสมัยโบราณของชาวอียิปต์

เชื่อกันว่า ปอมเมอเรเนียนได้รับการพัฒนาให้เป็นปอมเมอเรเนียนในปัจจุบันครั้งแรกที่เมืองปอมเมอเรเนีย ประเทศเยอรมัน ตั้งอยู่ในยุโดรเหนือแถบทะเลบอลติก ดินแดนกว้างใหญ่จากตะวันตกของเกาะรูเกนถึงแม่น้ำวิทูลา ที่แห่งนี้มีการเลี้ยงสุนัขอย่างแพร่หลาย ทั้งเพื่อให้เป็นสัตว์และเพื่อให้เป็นสุนัขอารักขา ปอมเมอเรเนียนมีต้นกำเนิดจากพันธุ์สปิทซ์ในสมัยโบราณ บางคนเชื่อว่าสุนัขปอมเมอเรเนียนพัฒนาจากสุนัขพันธุ์ซามอยด์ ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่ตอนเหนือของประเทศรัสเซียแถบไซบีเรีย บางคนเชื่อว่าพัฒนามาจากสุนัขป่า ซึ่งอาศัยอยู่ตามถ้ำในประเทศเยอรมัน และถูกนำมาใช้เป็นสุนัขเลี้ยงแกะในทวีปยุโรปตอนกลางและตอนล่าง นำมาพัฒนาในยุโรปเพื่อช่วยในการเลี้ยงแกะ ซึ่งบรรพบุรุษของปอมฯ น่าจะมีน้ำหนักมากถึง 30 ปอนด์ บางคนเชื่อว่าสุนัขปอมฯ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศกรีซ โดยอ้างหลักฐานจากภาพวาดสมัยโบราณหลายภาพที่มีอายุ 400 ปีก่อนคริสตกาล หรือเกือบประมาณ 2500 ปีมาแล้ว มีภาพของสุนัขขนาดเล็กที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนสุนัขปอมฯ ในปัจจุบัน คือ Stop ที่เด่นชัด ช่วงปากแหลม หูสั้น ลักษณะการเดินและการแสดงออกเหมือนกับที่พบได้ในปัจจุบันทุกประการ ยกเว้นแต่ตำแหน่งของหางที่อยู่ต่ำเกินไปเท่านั้น แสดงว่าสุนัขพันธุ์นี้มีขนาดเล็กมากตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ไม่ใช่เพิ่งพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงเมื่อ 40-50 ปีที่ผ่านมาตามที่มีคนในประเทศอังกฤษอ้างเสมอ ประมาณปี 1800 สมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย ทรงมีความชื่นชอบในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนและส่งสุนัขของพระองค์ลงประกวด ทำให้เกิดความนิยมปอมเมอเรเนียนอย่างแพร่หลายในประเทศอังกฤษ และเพราะความที่พระองค์โปรดปรานสุนัขที่มีขนาดเล็ก ผู้เพาะพันธุ์หลายคนเริ่มที่จะคัดสุนัขที่มีขนาดเล็ก ปัจจุบันปอมฯ ที่เราเห็นอยู่มีขนาดที่เล็กลงจากปอมฯ ที่เป็นต้นตำรับ 4-5 ปอนด์

ความฉลาดและความสามารถของปอมฯ ทำให้สุนัขพันธุ์นี้เป็นพระเอกในคณะละครสัตว์อย่างต่อเนื่อง ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเยอรมัน นิยมเลี้ยงกันเป็นฝูง บางแห่งทำเป็นสุนัขลากเลื่อนก็มี ปอมฯ เข้าสู่อังกฤษช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 และได้รับความนิยมอย่างสูง เช่น มีการตั้งชมรมคือ English Pomeranian Club ในปี 1891 ภายหลังสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียทรงออกงานพร้อมสุนัขพันธุ์นี้บ่อยครั้ง ทำให้สุนัขพันธุ์นี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ส่วนในประเทศอเมริกามีการปรากฎตัวครั้งแรกของปอมเมอเรเนียนที่งานกระกวดสุนัขแห่งหนึ่งประมาณปี 1892 ไม่กี่ปีหลังจากนั้นมีการสั่งนำเข้าอีกเกือบ 200 ตัว มาตรฐานของปอมฯ โดยทั่วไป รูปรางจะเหมือนสุนัขจิ้งจอก มีขนาดกลาง ตาเป็นวงรีสีดำ หูเล็กตั้งตรง ลำตัวสั้นขนาดกระทัดรัด หางเป็นพวงแผ่อยู่บนส่วนหลัง

มาตราฐานสายพันธุ์
ลักษณะทั่วไป : ปอมฯ เป็นสุนัขขนาดเล็ก ลำตัวสั้นกระทัดรัด น้ำหนักประมาณ 4-6 ปอนด์ มีการแสดงออกถึงความเฉลียวฉลาด ร่าเริงและตื่นตัวอยู่เสมอ ซื่อสัตย์ รักเจ้าของ ขี้ประจบ แต่เป็นสุนัขค่อนข้างตกใจง่าย เห่ามาก ยิ่งตัวเล็กยิ่งเห่าเก่ง
ส่วน : น้ำหนักของปอมฯ โดยเฉลี่ยแล้วจะหนักประมาณ 3-7 ปอนด์ (ประมาณ 1.25-3 กก.) แต่ขนาดที่ดีสำหรับการประกวดนั้นควรหนักประมาณ 4-6 ปอนด์ (1.7-2.5 กก.) ถ้าสุนัขหนักมากกว่าหรือน้อยกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ถือว่าผิดมาตรฐาน รูปร่างของสุนัขมีความสำคัญกว่าขนาดของสุนัข ช่วงตั้งแต่หน้าอกจนถึงสะโพกจะสั้นกว่าหรือเท่ากับส่วนสูงตั้งแต่ช่วงไหล่จนถึงพื้น กระดูกมีขนาดปานกลาง
ศีรษะ : ขนาดของหัวต้องได้ส่วนกับลำตัว ช่วงปาก (MUZZLE) สั้นตรง หน้าดูคล้ายกับสุนัขจิ้งจอก (FOXY EXPRESSION) หัวกะโหลกปิด ช่วงบนของหัวกะโหลกจะกลมเล็กน้อยแต่ไม่โหนกนูน ถ้ามองจากด้านหน้าและด้านข้างแล้วจะต้องเห็นหูที่มีขนาดเล็กอยู่ในตำแหน่งที่สูง (HIGH EARSET) และตั้งตรง รูปร่างปากจะมีลักษณะคล้ายรูปลิ่ม(WEDGE SHAPE) เส้นที่ลากจากจมูกไปถึงจุดหัก (STOP) จะต้องอยู่ตรงกลางระหว่างตาทั้งสองข้างและหูทั้งสองข้าง ตามีสีดำสนิท สดใส ขนาดปานกลาง คล้ายเมล็ดอัลมอนด์ (ALMOND SHAPE) สีของจมูกและขอบตาต้องดำสนิท ยกเว้นปอมฯ สีน้ำตาล BEAVER และ BLUE ฟันต้องกัดสบกันพอดี (SCISSORSBITE)
นิสัยและอารมณ์ : สุนัขปอมฯ เป็นสุนัขที่เปิดเผย แสดงออกถึงความเฉลียวฉลาด
คอ เส้นหลังและลำตัว : คอค่อนข้างสั้น ตั้งอยู่บนไหล่ ทำให้ช่วงคอตั้งสูง แลดูสง่างาม ช่วงหลังสั้น มีระดับของเส้นหลัง หางมีตำแหน่งที่สูง (HIGH TAILSET) วางราบตรงอยู่บนหลัง
ลำตัวส่วนหน้า : ไหล่จะต้องมีการเอียงลาดลงเพียงพอ เพื่อให้สามารถชูคอและหัวได้สูงและสง่างาม ความยาวของช่วงไหล่และขาตอนบนต้องเท่ากัน ขาหน้าต้องตรงและขนานกัน ความยาวตั้งแต่ไหล่จนถึงข้อศอกต้องมีความยาวเท่ากับข้อศอกถึงพื้น ขาต้องตรงและแข็งแรง ไม่เอียงเข้าหรือเอียงออก
ลำตัวส่วนหลัง : ได้ส่วนกับลำตัวส่วนหน้า ตำแหน่งของหางจะต้องอยู่เหนือสะโพกค่อนมาทางด้านหน้าต้นขา ต้องมีกล้ามเนื้อแข็งแรงปานกลาง และมีส่วนหน้าของขาหลัง (STIFLES) มีมุม (ANGULATION) ที่โค้งงอพอสมควรรับกับส่วนน่อง (HOCK) ต้องตั้งฉากกับพื้น ถ้ามองจากด้านหลังขาทั้ง 2 ข้างต้องตรงและขนานกัน เท้ามีลักษณะโค้งมนกระชับ ไม่เอียง สุนัขต้องยืนอยู่ปลายเท้า (TOES) นิ้วติ่ง (DEWCLAWS) ถ้ามีควรตัดออก
การเคลื่อนไหว : การเดินหรือการเคลื่อนไหวต้องเป็นไปอย่างอิสระราบเรียบ นุ่มนวล แลดูแข็งแรง เวลาเดินขาหน้าต้องเหยียดตรงไม่งอพับขึ้น ข้อศอกไม่กางออก ส่วนขาหลังต้องไม่ถ่างออก ขาหลังจะเคลื่อนไปข้างหน้าในจังหวะเดียวกันกับขาหน้าที่เคลื่อนที่ไป
ขน : สุนัขปอมฯ มีขน 2 ชั้น คือ ขนชั้นใน (UNDERCOAT) ต้องนุ่มและแน่น ขนชั้นนอก(OUTTERCOAT) ต้องยาวตรงเป็นประกายและหยาบ ขนชั้นในที่หนาแน่นจะช่วยพยุงขนชั้นนอกให้ฟูไม่ลู่ เหยียดตรง ขนจะต้องหนาแน่นตั้งแต่ช่วงคอ หน้าอก ช่วงไหล่ด้านหน้า ขนช่วงหัวและขาจะแน่นแต่สั้นกว่าขนช่วงลำตัว ขนหางยาว หยาบและเหยียดตรง การตัดแต่งเล็มขนให้ดูสวยงามและดูเรียบร้อยไม่ถือเป็นข้อผิด
สี : สีที่ได้รับการยอมรับและรับรอง ควรได้รับการพิจารณาการตัดสินอย่างเท่าเทียมกัน สีที่ได้รับการยอมรับได้แก่
1. สีใดๆ ก็ได้ที่ขึ้นเป็นสีเดียวกันทั้งตัว หรืออาจจะมีสีที่อ่อนหรือแก่กว่าแซมอยู่ด้วย (SELT-COLOR)
2. สีแซมกัน 2 สี (PARTI-COLOR) หมายถึงปอมฯ ที่มีสีขาวและมีสีอื่นแซมเป็นพื้นๆ กระจายเท่าๆ กันทั่วตัว และควรมีแถบสีขาวบนหัวด้วย
3. สีดำและน้ำตาล (BLACK AND TAN) หมายถึงปอมฯ มีสีดำที่มีสีน้ำตาลอยู่เหนือตาทั้ง 2 ข้างและปาก ลำคอ หน้าอก ใต้หาง ขาและเท้าทั้ง 4 ข้าง สีน้ำตาลนี้ยิ่งเข้มยิ่งดี
4. BRINDLE ได้แก่ปอมฯ ที่มีพื้น คือ สีทอง แดงหรือส้ม และมีสีดำแซมอยู่ทั่วทั้งตัว

จุดบกพร่อง :
1. กะโหลกกลม โหนกนูน ฟันล่างยื่น (UNDERSHOT MOUTH) หรือฟันบนยื่นจนเกินไป (OVERSHOT MOUTH)
2. ข้อเท้าราบกับพื้นมากเกินไป
3. ขาหลังที่หัวเข่าชิดกัน ปลายเท้าชี้ออก (COWHOCKS) หรือขาหลังที่บกพร่อง
4. ขนที่นิ่ม เหยียดตรงและแยกออกจนเห็นผิวหนังข้างใน (OPEN COAT)



11.บีเกิล
สุนัขสายพันธุ์ บีเกิล (Beagle) เป็นสุนัขที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความเฉลียวฉลาด ซุกซน คล่องแคล่วว่องไว ซึ่งก็เป็นเพราะพวกเค้าสืบสายเลือดมาจากบรรพบุรุษนักล่ากระต่ายฝีมือฉกาจ
ปัจจุบันนี้แม้จะไม่ได้ทำหน้าที่ผู้ช่วยนายพรานเหมือนสมัยก่อน แต่เค้าก็ได้รับการยอมรับในฐานะสุนัขสำหรับเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนที่สุดแสนน่ารัก โกรธใครไม่เป็น เหมาะสำหรับสร้างความสุขให้แก่สมาชิกทุกเพศทุกวัยในครอบครัว (แหม...ช่างมีคุณสมบัติรอบตัวซะจริงๆ) จนหากให้จัดอันดับสายพันธุ์สุนัขซึ่งเลี้ยงเป็นเพื่อนได้ดีที่สุด เชื่อแน่ว่าบีเกิลคงถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ เป็นแน่...

ว่าแล้วก็อย่ารอช้า...เราไปทำความรู้จักกับน้องหมาน่ารักน่าหยิกสายพันธุ์นี้กันเลยดีกว่า...


                               (ดุ๊กดิ๊กๆ > < จุ๊จุ๊ มานี่ม่ะ มาหาพ่อเร็ว >> ก๊าก กก)

ความเป็นมาของบีเกิล

ต้นกำเนิดของสุนัขสายพันธุ์บีเกิลนั้นไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าสุนัขกลุ่ม Hound สายพันธุ์นี้น่าจะมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอังกฤษตั้งแต่ยุคสมัยก่อนที่จักรวรรดิโรมันจะเข้ายึดครอง บางรายงานกล่าวว่ามีการพบสุนัขสายพันธุ์นี้ในสมัยฝรั่งเศสและกรีกโบราณ และมีหลักฐานที่แน่ชัดชิ้นหนึ่งซึ่งบ่งชี้ว่ามีการใช้สุนัขสายพันธุ์นี้สำหรับล่าสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ตัวเล็กๆ อย่างกระต่าย ตั้งแต่ยุคสงครามครูเสด

สุนัขสายพันธุ์บีเกิลสามารถพบเจอได้เกือบทุกพื้นที่ของประเทศอังกฤษเนื่องจากเป็นสายพันธุ์ซึ่งชาวอังกฤษนิยมเพาะมากที่สุดสายพันธุ์หนึ่ง ความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งของพวกเค้าคือมีความคล่องแคล่วปราดเปรียวอย่างสูงในการไล่ล่าและแกะรอยกระต่ายป่า ดังนั้นนายพรานชาวอังกฤษจึงมักพาพวกเค้าออกไปเป็นฝูงแต่เช้ามืดเพื่อดมกลิ่นหาเหยื่อ เมื่อพวกเค้าได้กลิ่นเป้าหมายก็จะเห่าบอกเจ้านายและตามตีวงล้อมอย่างไม่ลดละ บีบให้เหยื่อเหลือทางหนีน้อยที่สุด (และหากเจ้ากระต่ายตัดสินใจหนีออกทางที่เหลืออยู่ก็มักต้องพบนายพรานดักรออยู่นั่นเอง) ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้เป็นที่นิยมของนายพรานชาวอังกฤษเป็นอย่างมาก

ในเวลาต่อมา ได้มีผู้นำสุนัขสายพันธุ์บีเกิลไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าได้รับความนิยมในระดับหนึ่ง หากแต่บีเกิลที่เข้ามาในสหรัฐอเมริกาช่วงแรกๆ นั้นก็ยังไม่มีรูปร่างสวยงามตรงตามมาตรฐานสายพันธุ์เหมือนอย่างบีเกิลของประเทศอังกฤษ กระทั่งถึงปี ค.ศ.1870 จึงมีนักพัฒนาสายพันธุ์สุนัขชาวสหรัฐฯ กลุ่มหนึ่งเริ่มหันมาสนใจพัฒนาสายพันธุ์ของบีเกิลอย่างจริงจัง จนทำให้ได้บีเกิลซึ่งมีลักษณะดี เป็นที่ยอมรับ ถูกต้องตามมาตรฐานในที่สุด ซึ่ง American Kennel Club ก็ได้ทำการจดทะเบียนรับรองสุนัขสายพันธุ์บีเกิลตัวแรกเมื่อปี ค.ศ.1885 และต่อมาในปี ค.ศ.1888 จึงได้มีการก่อตั้งชมรมผู้เพาะพันธุ์บีเกิลแห่งสหรัฐฯ ขึ้นอย่างเป็นทางการ

ปัจจุบันสุนัขสายพันธุ์บีเกิลยังคงเป็นสุนัขซึ่งมีผู้นิยมเลี้ยงเป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยความน่ารัก คล่องแคล่ว และเป็นมิตรกับทุกคน อย่างไรก็ตามบีเกิลอาจไม่เหมาะนักสำหรับการเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน เพราะความที่เค้าต้องการสังคมสูง ชอบเล่นสนุก ชอบผูกมิตรกับสมาชิกในครอบครัวและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ดังนั้นหากปล่อยให้เค้าต้องอยู่ตามลำพังเป็นเวลานานจนเกินไปอาจทำให้เค้าเกิดความเครียดและนำไปสู่พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์หลายๆ ประการ


มาตรฐานสายพันธุ์
นิสัย : ใจกล้า จงรักภักดี กระฉับกระเฉง กล้าตัดสินใจ ตื่นตัว ขี้สงสัย สุภาพอ่อนโยน รักความสะอาด เข้ากับผู้อื่นได้ง่าย ชอบเข้าสังคม บ้านที่มีเด็กก็สามารถเลี้ยงเค้าไว้เป็นเพื่อนเล่นกับเด็กๆ ได้

ขนาด : สูง 33-40 เซนติเมตร น้ำหนัก 8-14 กิโลกรัม

ศีรษะ : กะโหลกค่อนข้างยาว ท้ายทอยเป็นรูปโดม หน้าผากกว้างและเต็ม จมูกยาวปานกลาง ส่วนปลายจมูกเห็นชัดเจน

ฟัน : ฟันแข็งแรง สีขาว สบกันพอดี

ตา : ดวงตากลมใหญ่ สายตานุ่มนวล แต่แววตาแสดงออกถึงความกระตือรือร้น ดวงตามีสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแดง

หู : หูอยู่ต่ำเล็กน้อย ชิดกับหัว ขอบหน้าของใบหูชิดกับแก้ม หูมีความยาวมากถ้าจับกางออก ใบหูบาง ขนาดค่อนข้างกว้างและกลม หูไม่ตั้ง

คอ : ลำคอยาวปานกลาง แข็งแรง ไม่ควรมีรอยย่นของผิวหนัง (อาจมีบ้างเล็กน้อยในตำแหน่งด้านล่างตรงมุมของกราม ซึ่งลักษณะเช่นนี้ยังยอมรับได้)

ลำตัว : ลำตัวสะอาด เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ เส้นโค้งของไหล่จะทำให้การเดินและท่าทางของบีเกิลเต็มไปด้วยความแข็งแรง ดูไม่หนาเทอะทะ

ขาหน้า : ขาตรง เต็มไปด้วยกระดูกซึ่งเป็นลักษณะของกลุ่มสุนัขล่าสัตว์ ข้อเท้าสั้นและแข็งแรง

ขาหลัง : เข่าแข็งแรง ลาดลงพอดี ข้อเท้าสมดุลและแบะออกปานกลาง

เท้า : เท้ากลมได้รูป หุบแน่น อุ้งเท้าแข็งและเต็ม

หาง : หางอยู่ตำแหน่งปานกลาง ปลายหางโค้งขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ไปด้านหน้ามากนัก หางมีขนเป็นพวง ลักษณะที่บกพร่องคือขนหางยาวเกินไป หางยาว โค้งไปทางด้านหน้ามาก หรือหางไม่มีขน

ขน : ขนแน่น สั้น และแข็ง

สีขน : มี 3 สีร่วมกันโดยไม่มีสีใดเด่น


การเลี้ยงดูเจ้าบีเกิล

การให้อาหารบีเกิล
คำกล่าวที่ว่า "กินอะไร ก็ได้อย่างนั้น" สามารถสะท้อนถึงความสำคัญของการกินอาหารอย่างถูกต้องได้เป็นอย่างดี สำหรับสุนัขสายพันธุ์บีเกิลก็เช่นเดียวกัน หากว่าเราต้องการให้เค้ามีสุขภาพแข็งแรง เติบโตสมวัย เราก็ต้องใส่ใจเรื่องอาหารการกินของเค้าให้มาก ซึ่งวิธีการให้อาหารแก่บีเกิลที่ถูกต้องก็มีดังนี้

+ บีเกิลอายุระหว่าง 2-3 เดือน ควรให้อาหารเม็ดวันละ 4 มื้อ มื้อละ 1 ถ้วย (ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง) โดยอาจใช้ถ้วยกาแฟขนาดเล็กตวง ผสมกับอาหารกระป๋อง 1 ช้อนโต๊ะ คลุกเคล้าให้ทั่ว

+ บีเกิลอายุระหว่าง 3-4 เดือน ควรให้อาหารเม็ดวันละ 3 มื้อ มื้อละ 1 ถ้วย (ทุกๆ 6-8 ชั่วโมง) ผสมอาหารกระป๋อง 1 ช้อนโต๊ะ

+ บีเกิลอายุระหว่าง 4-12 เดือน
ควรปรับมาให้อาหารเม็ดวันละ 2 มื้อ มื้อละ 1 ถ้วย หรืออาจจะมากน้อยกว่านั้นเล็กน้อย โดยให้สังเกตดูรูปร่าง ถ้าท้องป่องมากเกินไปควรลดจำนวนอาหารแต่ละมื้อลงบ้าง และต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับระดับการออกกำลังกายของเค้าด้วย หากบีเกิลของคุณมีโอกาสออกกำลังกายน้อย ปริมาณอาหารที่ให้ก็ควรปรับลดลง

+ เมื่อบีเกิลอายุครบ 12 เดือนขึ้นไป สามารถลดปริมาณการให้อาหารเหลือวันละ 1 มื้อ มื้อละ 1-1/2 ถ้วย ก็เพียงพอแล้ว

+ นม ไม่จำเป็นต้องให้นมลูกสุนัขอีกหลังจากอายุครบ 2 เดือนขึ้นไป เพราะเมื่ออายุพ้น 2 เดือนแล้วเค้าจะสามารถหาแคลเซียมทดแทนจากการกินอาหารสำเร็จรูปได้

+ อาหารเสริม สำหรับบีเกิลป่วยอาจให้อาหารเสริมบ้าง แต่ไม่มีความจำเป็นต้องให้อาหารเสริมในยามที่เค้ามีสุขภาพปกติ

+ อาหารสด ไม่ควรให้อาหารสด (อาหารคน) กับบีเกิลโดยเด็ดขาด เพราะเค้าอาจติดใจรสชาติ กลิ่นของอาหารคน และไม่อยากกินอาหารเม็ดอีกต่อไป นอกจากนั้นการให้อาหารสดยังอาจทำให้เค้าได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือได้รับมากเกินไปจนทำให้มีปัญหาสุขภาพตามมาภายหลัง โดยเฉพาะเมื่อเค้าอายุมากขึ้น เช่น ปัญหาด้านการเจริญเติบโต ปัญหาสุขภาพขน การให้อาหารสดอาจให้บ้างเล็กน้อยเพื่อใช้เป็นรางวัลสำหรับการฝึกเท่านั้น (ซึ่งอาจเป็นจำพวกตับ ไส้กรอก แฮม หรือชีส ก็ได้)

+ ห้ามให้สุนัขกิน ช็อกโกแลตและหัวหอม เป็นอันขาด เพราะอาจทำให้สุนัขเป็นอันตรายถึงตายได้


การดูแลทำความสะอาด
การดูแลทำความสะอาดให้สุนัขขนสั้นอย่างบีเกิลนั้นแสนง่าย แค่อาบน้ำให้เค้าอาทิตย์ละครั้งก็เพียงพอ จากนั้นก็เช็ดหรือเป่าตัวของเค้าให้แห้งพร้อมๆ กับแปรงขนไปด้วย หรือถ้าไม่สกปรกมากอาจใช้แค่ผ้าสะอาดชุบน้ำเช็ดตัวให้เค้าก็ได้
ส่วนเรื่องการแปรงขนให้บีเกิลสามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากว่าเค้ามีขนสั้นและสีเข้ม ควรแปรงขนให้แก่เค้าทุกๆ 3-4 วัน เพื่อกำจัดเส้นขนที่ตายแล้วออกไปและช่วยเพิ่มความเงางามแข็งแรงแก่เส้นขน


การออกกำลังกาย
แม้ว่าสุนัขสายพันธุ์นี้จะมีขนาดเล็ก แต่ด้วยเหตุที่จุดประสงค์ดั้งเดิมที่เค้าถูกพัฒนาขึ้นมาคือการเป็นสุนัขสำหรับล่าสัตว์ ทำให้พวกเค้ามีพลังงานในตัวมากและชื่นชอบการออกกำลังกายเป็นอย่างยิ่ง จึงควรพาเค้าไปออกกำลังกายบ้างอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น และหากคุณอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่มีบริเวณกว้างขวางนัก อย่างเช่น คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์ คุณก็จะต้องพิจารณาให้ดีว่าคุณพอมีเวลาและมีสวนสาธารณะใกล้เคียงซึ่งคุณสามารถพาเค้าไปเดินเล่นออกกำลังได้หรือไม่


การดูแลทั่วๆ ไป
หู บีเกิลมีใบหูยาวปรกลงมา จึงควรหมั่นเช็ดทำความสะอาดบริเวณใบหูทั้งภายในและภายนอกรูหูเป็นประจำ
ตา ควรหมั่นตรวจเช็คนัยน์ตาของบีเกิลว่ามีสิ่งผิดปกติใดๆ บ้างหรือไม่ เช่น มีแผลบนกระจกตา มีฝ้าขาว หรือมีขี้ตา เกรอะกรังมากกว่าปกติ หากพบเห็นก็ควรรีบพาเค้าไปพบสัตวแพทย์ทันที
จมูก จมูกของสุนัขที่มีสุขภาพดีจะเรียบชื้น เป็นมัน หากพบว่าบีเกิลของคุณจมูกแห้งหรือชื้นเกินไป มีน้ำมูกไหล ให้สันนิษฐานว่าเค้าคงไม่สบายเสียแล้ว
ฟัน อาหารที่เหมาะสมสำหรับให้บีเกิลที่สุดควรเป็นอาหารเม็ด เพราะจะช่วยขัดฟันได้และมีสารอาหารครบถ้วน นอกจากนั้นก็ต้องแปรงฟันให้เค้าเป็นประจำ โดยควรฝึกฝนให้เค้าเคยชินกับการแปรงฟันตั้งแต่ยังเล็ก


บีเกิลกับเด็ก
สุนัขสายพันธุ์บีเกิลมีนิสัยขี้เล่น ใจดี ไม่ขี้หงุดหงิด จึงเข้ากันได้อย่างดีกับเด็กๆ แต่ก็ไม่ควรละเลยปล่อยให้เล่นกันตามลำพัง ควรมีผู้ใหญ่เฝ้าดูอยู่ด้วยเสมอ เพราะหากว่าเด็กๆ เล่นกับเค้าแรงเกินไปก็อาจทำให้เค้าบาดเจ็บหรือหงุดหงิดได้


บีเกิลกับผู้สูงอายุ
บีเกิลเป็นเพื่อนที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้สูงอายุซึ่งต้องอยู่บ้านอย่างเหงาๆ หลังเกษียณ เพราะเค้ามีความสุภาพอ่อนโยน ไม่ก้าวร้าว มีขนาดตัวเล็กพอเหมาะ การให้เค้าคอยเป็นเพื่อนเล่นของผู้สูงอายุจะช่วยให้พวกท่านมีโอกาสออกกำลังกายโดยไม่ต้องออกแรงหักโหมจนเกินไป


5 ข้อดีของบีเกิล
1. มีใบหน้าที่น่ารัก หูตูบ และดวงตากลมโตสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งทำให้คุณหลงรักเค้าได้ง่ายๆ ที่สำคัญคือบีเกิลจะรักเด็ก ผู้ใหญ่ สัตว์เลี้ยงอื่นๆ และทุกๆ คนในครอบครัว

2. ด้วยจุดประสงค์ดั้งเดิมในการใช้เป็นสุนัขล่าสัตว์ ทำให้บีเกิลถูกพัฒนาให้มีจมูกไว จึงมีทักษะการดมกลิ่นที่ดีเยี่ยม สามารถปฏิบัติงานได้หลากหลายรูปแบบ

3. สุนัขสายพันธุ์บีเกิลมักไม่ค่อยกลัวตัวประหลาด ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่าเค้าจะตกใจจนเกินไปเวลาที่คุณถือตุ๊กตาหน้าตาแปลกๆ เข้าบ้าน

4. บีเกิลมีพลังเห่าหอนอันรุนแรงซึ่งอาจทำให้ขโมยแสบแก้วหู และช่วยให้คุณสามารถตื่นขึ้นมาได้ทันการณ์

5. ถึงจะเสียงดีแค่ไหนเค้าก็ไม่ปากเปราะ สุนัขสายพันธุ์บีเกิลจะไม่เห่าพร่ำเพรื่อนอกจากว่ามีคนแปลกหน้าเดินรุกล้ำเข้ามาในบ้าน


เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับ Beagle
+ ความสูงมากที่สุดของบีเกิลที่ได้รับการยอมรับในประเทศสหรัฐอเมริกาคือ 15 นิ้ว ขณะที่ในประเทศอังกฤษคือ 16 นิ้ว

+ สุนัขสายพันธุ์บีเกิลจะไม่มีน้ำลายไหลเยิ้ม ไม่ค่อยมีกลิ่นสาบ และผลัดขนน้อยมาก

+ Lyndon B. Johnson ประธานาธิบดีคนที่ 36 แห่งสหรัฐอเมริกา เลี้ยงสุนัขบีเกิลจำนวน 3 ตัว ชื่อว่า Him, Her และ Edgar

+ ตัวการ์ตูนสนูป (Snoopy) จากการ์ตูนชุด Peanuts ของ Charles M. Schulz ก็มีต้นแบบมาจากสุนัขสายพันธุ์บีเกิล



มาสุนัขไทยเราบ้าง!

12.บางแก้ว
เป็นสุนัขสายพันธุ์ไทย มีถิ่นกำเนิดที่บ้านบางแก้ว อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และเชื่อว่าเกิดจากการผสมกันระหว่างสุนัขไทยกับสุนัขจิ้งจอก หลังจากนั้นในรุ่นลูกมีการผสมกับกลุ่มเครือญาติหลายชั่วอายุจนได้พันธุ์แท้ คือ บางแก้วในปัจจุบัน

ลักษณะทั่วไป

เป็นสุนัขขนาดกลาง หูตั้งตรง ขนยาวเหยียดตรงหนา และปุย ใบหน้าจะสั้น แต่ปากแหลมยาวคล้ายปากสุนัขจิ้งจอก สง่างาม เวลายืนมีขาหน้าใหญ่กว่าขาหลัง นัยน์ตาเล็กกลมสีเหลืองทองคล้ำ ส่วนของหางจะเป็นพวงแต่มีบางตัวไม่เป็นพวง สำหรับลักษณะของใบหน้าแบ่งเป็น 3 แบบ คือ

หน้าเสือ คือ มีกระโหลกใหญ่ ใบหูเล็ก แววตาดุร้าย มีขนที่คอแต่ไม่รอบคอ และไม่มีเคราใต้คาง หางมีทั้งเป็นพวงและไม่เป็นพวง ส่วนขนมีทั้งฟูและไม่ฟู
หน้าสิงห์โต คือ มีขนแผงคอใหญ่รอบคอ มีเครายาวใต้คาง กระโหลกใหญ่ ใบหูเล็กและตั้งตรง ช่วงตัวตอนหน้าใหญ่ตอนท้ายเล็ก แววตาปกติจะเซื่องซึม แต่จะดุร้ายและคล่องแคล่วว่องไวเมื่อเจอคนแปลกหน้า หางเป็นพวง จัดเป็นสุนัขที่หายากและมีราคาแพง
หน้าจิ้งจอก คือ ใบหน้าแหลม ใบหูใหญ่กว่าสองชนิดแรก หางเป็นพวง นิสัยไม่ค่อยดุร้าย

นิสัย


บางแก้ว เป็นสุนัขที่มีนิสัยค่อนข้างดุ แต่มีความซื่อสัตย์และหวงเจ้าของมากเป็นพิเศษ ไม่ชอบคนแปลกหน้า มีความสามารถในการดมกลิ่นและจำเสียงเป็นเลิศ ตื่นตัวตลอดเวลา กล้าหาญ กินอาหารง่าย ชอบเล่นน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นสุนัขที่หวงสิ่งของในบ้าน หากคนภายนอกบ้านแตะต้องจะกัดทันทีและกัดไม่ปล่อย

มาตรฐานพันธุ์


ขนาด เพศผู้ เพศเมีย
ความสูง (เซนติเมตร) 42 - 53 39 - 49
น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) 17 - 20

ขน

ลักษณะขนเป็นขนยาวสองชั้นและหนา ชั้นนอกจะเหยียดยาวและฟู ส่วนขนชั้นในจะนิ่มละเอียด และมีขนยาวที่แผงคอ

สี

มีสีแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

สีเดียว เช่น ขาว, ดำ, น้ำตาล, เทา และนาก
สีประ หรือสีผสม เช่น ขาว – ดำ, ขาว – น้ำตาล, ขาว – นาก และเทาน้ำตาล
สีที่นิยม คือ ขาว, ขาว – น้ำตาล, ขาว – ดำ, ดำ และ ลายเสือ

หลักเกณฑ์การให้คะแนนในการประกวดสุนัขไทยหลังอาน

ปาก 20 คะแนน
หู 20 คะแนน
กระโหลกหัว 10 คะแนน
หาง 20 คะแนน
ขน 10 คะแนน
รูปร่าง 10 คะแนน
ความสมบูรณ์ของร่างกาย 10 คะแนน
รวม 100 คะแนน


การเลือกซื้อลูกสุนัขบางแก้ว

ข้อคิดในการเลือกซื้อสุนัขบางแก้ว - สุนัขบางแก้วเป็นสุนัขพื้นบ้านที่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี โดยธรรมชาติของสุนัขบางแก้วแล้ว มีความรักเจ้าของ และสวยงามคล้ายสุนัขพันธุ์ต่างประเทศที่มีขนยาวสวยงาม หางเป็นพวง และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยที่ควรอนุรักษ์ไว้ แต่ว่าสุนัขบางแก้วมีข้อเสียเรื่องความดุ และบางครั้งอาจจะก้าวร้าวอาจมีปัญหาเรื่องพฤติกรรม อารมณ์ ฉะนั้นสุนัขบางแก้วควรได้รับการเลี้ยงดูและการฝึกให้อยู่ร่วมกับคนในสังคมอย่างถูกต้อง

โดยสามารถเริ่มฝึกให้สุนัขมีการเรียนรู้พร้อมๆ กับการเลี้ยงดูได้ตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัข เพื่อให้สุนัขมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเจ้าของและสุนัข เพื่อให้เกิดการยอมรับและการไว้ใจ สามารถเข้าสังคมได้ดี เรื่องของพฤติกรรมและอารมณ์ของสุนัขจะดุหรือก้าวร้าวนั้นมีสาเหตุหลักประกอบด้วยสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ พันธุกรรม และส่วนที่สองคือการเรียนรู้(การฝึก)

ดังนั้นก่อนการตัดสินใจในการเลี้ยง ผู้เลี้ยงควรพิจารณาดังนี้

1. พันธุกรรม
เนื่องจากพันธุกรรมและอารมณ์ของสุนัขเมื่อโตเต็มที่นั้น ส่วนหนึ่งถ่ายทอดทางสายเลือด ดังนั้นก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อลุกสุนัขนั้นควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพื่อที่จะได้ลูกสุนัขที่ปราศจากข้อบกพร่องที่ถ่ายทอดมาทางสายเลือด เพราะว่าข้อบกพร่องเหล่านี้มีผลต่อพฤติกรรม และอารมณ์ของสุนัขอย่างมากในอนาคตเพราะสุนัขที่ถ่ายทอดสายเลือดไม่ดีอาจจะเป็นผลให้เกิดความพิการในจุดที่มองเห็น และมองไม่เห็นยังเป็นผลทำให้สุนัขต้องทนทุกข์ทรมานในความ
เจ็บปวดเป็นเวลานาน และเป็นสาเหตุให้สุนัขมีสุขภาพจิตไม่ดี มีพฤติกรรมออกมาทางในสิ่งที่เราไม่ต้องการ เช่น ก้าวร้าว ดุ หรือสุนัขกัดเจ้าของได้

สำหรับหลักในการพิจารณาลักษณะที่ดีของสุนัขบางแก้วที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกซื้อ มี ดังนี้

1. เลือกหูเล็กกว่าทุกตัวในครอกเดียวกัน ถ้าในกรณีที่ดูไม่ออกว่าเล็กกว่ากันหรือไม่คงต้องดูว่าคุณชอบตัวไหนมากกว่าเพราะสุนัขขณะที่ยังเล็กก็ดูเล็กไปหมดทุกส่วน

2. กะโหลกศีรษะใหญ่ กระหม่อมแบนราบ หน้าผากโหนก ลักษณะนี้สุนัขบางแก้วไม่ได้มีทุกตัว เพราะเนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับเชื้อสาย พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ด้วย แต่ถ้าในกรณีที่มีโอกาสเลือกจากหลายครอก ก็เลือกจากครอกที่มีกะโหลกศีรษะใหญ่ก็ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สุนัขที่มีกะโหลกศีรษะเล็กจะเป็นข้อด้อยเพราะอย่างที่บอกว่าสุนัขไม่ได้มีกะโหลกใหญ่ทุกตัว และส่วนมากสุนัขที่มีกะโหลกใหญ่ หูของมันจะตั้งขึ้นช้ากว่าสุนัขที่มีกะโหลกเล็กกว่า เพราะ
ฉะนั้นไม่ต้องตกใจ ถ้าท่านซื้อสุนัขไป 2 ตัวพร้อมกันแล้วอีกตัวหูยังไม่ตั้งต้องให้เวลาหน่อย เว้นแต่ว่าท่านโดนหลอกขายสุนัขพันธุ์อื่นแทนบางแก้ว

3. โคนหางอวบใหญ่ หางใหญ่ยาวโน้มกลางหลังในลักษณะกำลังงามไม่มากเกินไป ไม่ไพล่หลัง หางไม่ขอด ไม่ม้วน

4. ขนเส้นยาวนุ่ม ในกรณีที่ท่านเลือกซื้อตอนสุนัขยังเล็ก อย่างไรแล้วขนก็นุ่มเพราะยังไม่มีการถ่ายขน เพราะปกติสุนัขบางแก้วมีขนสองชั้น ชั้นในนุ่ม ชั้นนอกจะหยาบกว่า แต่อย่างไรก็ยังสัมผัสได้ว่านุ่มกว่าสุนัขพันธุ์ทั่วไปแน่นอน

5. สีด่างได้ลักษณะ สิ่งนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่สุนัขบางแก้วนั้นแตกต่างจากสุนัขพันธุ์ ต่างประเทศ เพราะสุนัขพันธุ์ต่างประเทศ ถ้าเป็นสีไหนก็จะเป็นสีนั้นไปทั้งตัวอาจจะมีอ่อน เข้มต่างกันเท่านั้นแต่สุนัขบางแก้ว นอกจากจะมีสีต่างกันแล้ว เช่น ขาว-เทา ขาว- น้ำตาล ขาว-ดำ ยังมีข้อแตกต่างอีกว่าในแต่ละตัวจะมีแต้ม จะมีด่างตรงไหนบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าตัวใดจะมีลักษณะสวยงามอย่างไร อย่างเช่น บางตัวอาจแบ่งสีได้อย่างชัดเจนว่ามี 3 ส่วน คือ ส่วนหัว กลาง ท้าย บางตัวก็อาจไม่เป็นเช่นนั้น แล้วแต่ว่าจะชอบแบบไหน หรือบางทีสีด่างอยู่ที่ตำแหน่งอื่นแต่ก็สวยไม่แพ้กันก็มี

6. หน้าแด่น หรือแบ่งเป็นเส้นจากปลายปากถึงกะโหลกศีรษะ ถ้ามีน้อยไม่ยาวมากเรียกว่า แด่น แต่ถ้าเส้นยาวมีมากและแยกส่วนศีรษะออกเป็นสองส่วนเรียกว่า แบ่ง คุณลักษณะนี้เป็นลักษณะที่ถ้าสุนัขมีก็ตรงตามลักษณะที่สวยงามตามเกณฑ์ แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ก็ไม่ได ้หมายความว่าไม่ใช่สุนัขบางแก้ว เพราะสุนัขบางตัวก็มีลักษณะเด่นอย่างอื่นแทนลักษณะที่ด้อยของตัวมันเองก็ได้

7. ปลายปากแหลมเล็ก ถ้าปลายปากขาวเป็นวงรอบปลายปาก เรียกว่า ปากคาบแก้ว

8. จมูกดำ ลูกนัยน์ตาเล็กมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม

9. ขาใหญ่ ลักษณะที่ดี ขาหน้าจะต้องใหญ่กว่าขาหลัง

10. รูปร่างสวยงามเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งท่านสามารถศึกษาดูได้จากมาตรฐานพันธุ์ว่ารูป
สี่เหลี่ยมดูจากส่วนใดของสุนัข

11. มีสุขภาพดี ร่าเริง ไม่อยู่นิ่ง

ทั้งนี้ ทั้งนั้นในการเลือกซื้อแต่ละครั้งคงไม่จำเป็นว่าท่านจะต้องได้สุนัขที่มีลักษณะเด่นถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทุกอย่าง เพราะบางครั้งขึ้นอยู่กับความพอใจว่าชอบตัวไหน จุดประสงค์ในการซื้อว่าท่านจะนำไปประกวดหรือไม่ หรือเพียงเพื่อนำไปเลี้ยงเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์คอยเฝ้าบ้าน หรือเป็นเพื่อนเล่นแก้เหงา และอีกอย่างขึ้นอยู่กับงบประมาณของท่านเองด้วยว่า พอที่จะซื้อในราคาแบบใด เพราะในแต่ละตัวมีลักษณะที่เด่น และด้อยต่างกัน ทำให้ราคาก็ต่าง
กันด้วย

13.หลังอาน(จขกท เลี้ยงพันธ์นี้ล่ะ)
สุนัขไทยหลังอาน เป็นสุนัขที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย คือ ในจังหวัดตราดและจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดจันทบุรี และระยองจึงจัดเป็นสุนัขพื้นเมืองในบริเวณดังกล่าว

ลักษณะทั่วไป

เป็นสุนัขขนาดกลางมีรูปร่างใกล้เคียงกับสุนัขพื้นเมืองไทยทั่วไป แต่มีลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณะประจำพันธุ์ คือ บนหลังมีอานอยู่ด้านบน คล้ายว่ามีอานม้าวางอยู่บนหลัง มีรูปร่างลักษณะสง่างาม หน้าเชิด หูตั้ง หางทอดโค้งเหมือนดาบงอน ลิ้นมีปานสีดำ แต่เดิมใช้ในการล่าสัตว์เพราะมีความคล่องแคล่วว่องไว สำหรับอานที่เกิดบนหลังที่ดีจะต้องมีขนาดใหญ่ อานของสุนัขเกิดจาก 2 ลักษณะดังนี้

1. ขนที่ชี้ย้อนกลับไปด้านหน้า และไม่ได้เกิดจากขวัญ
2. ขวัญ ขวัญจะวนเป็นรูปก้นหอยจากไหล่ทั้ง 2 ข้างแล้วมาบรรจบกันที่หัวไหล่ เป็นวงกลมใหญ่ และเรียวลงมาตามแนวกระดูกสันหลังจรดโคนหางเหมือนอานม้า

การเกิดขวัญ ในตำแหน่งและจำนวนที่ต่างกัน มีผลทำให้เกิดรูปร่างของอานแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถแบ่งได้ 8 ชนิด ดังนี้

1. อานเข็ม มีขนาดเล็ก และไม่มีขวัญ
2. อานแบบแผ่น หรือ อานม้า ขนาดใหญ่เต็มแผ่นหลังและไม่มีขวัญ
3. อานแบบเทพพนม ขนบนหลังจะไม่ชี้ย้อนไปด้านหัวแต่จะชี้ชนกันกลางแนวสันหลัง เหมือนใช้นิ้วประสานกันพนมไหว้ และไม่มีขวัญบนหลัง
4. อานแบบหัวลูกศรหรือธนู เกิดจากการมีขวัญ 2 ขวัญบนหัวไหล่
5. อานแบบพิณ เกิดจากขวัญจำนวน 3 – 4 ขวัญ คือ ที่บริเวณหัวไหล่ 1 – 2 ขวัญ และบริเวณกึ่งกลางลำตัว 2 ขวัญอยู่กันคนละฝั่ง
6. อานแบบใบโพธิ์ ขวัญจะกว้างเต็มแผ่นหลังและเรียวยาว แต่ไม่ถึงโคนหาง
7. อานแบบไวโอลีน เกิดจากขวัญตั้งแต่ 3 – 5 ขวัญ คือ คู่แรกอยู่บนหัวไหล่หน้า ส่วนคู่ที่ 2 จะเกิดค่อนไปด้านหาง
8. อานแบบลูกโบว์ลิ่ง เกิดจากขวัญ 4 – 5 ขวัญ คือ บริเวณหัวไหล่อาจมี 1 ขวัญ หรือไม่มีก็ได้ บริเวณกลางลำตัวมี 1 คู่ อยู่ชิดกันเป็นช่องที่แคบ และมีขวัญอีก 1 คู่ที่เหนือโคนขาหลังโดยอยู่ห่างกัน และดูกว้างกว่าคู่แรก

นิสัย

สุนัขไทยหลังอานเป็นสุนัขขนาดกลาง ได้ชื่อว่ารักเจ้าของมาก ซื่อสัตย์ ไม่ดื้อประจบเก่ง สุภาพ และฉลาด แต่มีความดุร้ายพอสมควรเมื่อเจอคนที่ไม่ใช่เจ้าของ

มาตรฐานพันธุ์

ขนาด เพศผู้ เพศเมีย
ความสูง (เซนติเมตร) 52.5 - 62.5 47.5 - 57.5
น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) 22 - 24 20 - 22

ขน

สุนัขไทยหลังอานจะมีขนสั้น แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ แบบกำมะหยี่ ขนจะสั้นเกรียนติดผิวหนังและมีความนุ่ม และแบบสั้นแต่ไม่เกรียนติดหนัง

สี

สีควรเป็นสีเดียวทั้งตัว ส่วนสีที่พบได้ คือ น้ำตาล, น้ำตาลแดง, น้ำตาล อ่อน, น้ำตาลดำ, ขาว, กลีบบัว และสีสวาท

หลักเกณฑ์การให้คะแนนในการประกวดสุนัขไทยหลังอาน

อาน 20 คะแนน
ขนาด และลักษณะทั่วไป 20 คะแนน
ลำตัว 15 คะแนน
หาง 10 คะแนน
ขน 10 คะแนน
หัว - ตา 10 คะแนน
ขา - เท้า 10 คะแนน
หู 10 คะแนน
รวม 100 คะแนน


13.พันธ์สุดท้าย ขึ้นชื่อว่าดุ!!! = =!!!

ร็อทไวเลอร์!! 

ด้วยอกที่กว้างใหญ่ และร่างกายที่ปราศจากไขมันและมีแต่กล้ามเนื้อ ให้ความรู้สึกถึงพละกำลัง มันเป็นสุนัขที่อ่อนโยน ล่ำสัน แม้จะแลดูใหญ่โต แต่การย่างก้าวที่รวดเร็วทำให้วิ่งเร็วได้อย่างน่าทึ่ง สุนัขที่ทรหดอดทนจะคุ้นเคยกับการมีชีวิตอยู่นอกบ้าน และสามารถทนต่อทุกสภาพอากาศ

สุนัขพันธุ์ร็อทไวเลอร์เป็นสุนัขอารักขาที่น่าเกรงขาม เมื่อถูกฝึกให้ต่อสู้และโจมตี ก็จะทำอันตรายให้แก่ผู้บุกรุก แม้จะฝึกได้ไม่ยาก แต่ต้องมีเจ้านายที่มีวินัยเพื่อทำให้มันเคารพและเชื่อถือ ด้วยความเชื่อมั่นในพละกำลัง โดยธรรมชาติมันจะไม่ลังเลที่จะเผชิญหน้ากับภยันตรายที่จะเกิดขึ้น จะแสดงออกถึงความโดดเดี่ยวโดยธรรมชาติ แต่จะไม่เป็นดังกล่าวกับเจ้านายหรือผู้คนในครอบครัว

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ร็อทไวเลอร์ได้ถูกเกณฑ์ให้เข้าประจำการในกองทัพบกของเยอรมัน และในปัจจุบันทำหน้าที่เป็นสุนัขอารักขาให้กับโรงงานและสถานที่ประกอบการ ในประเทศออสเตรเลียมันถูกใช้ในราชการของกรมตำรวจ
สุนัขพันธุ์ร็อทไวเลอร์เป็นสัตว์ที่มีความตื่นตัวและเฉลียวฉลาดอย่างน่าทึ่ง สามารถจดจำเรื่องราวต่างๆ ที่สอน การแสดงออกถึงความสงบเยือกเย็น ทำให้เห็นถึงความกล้าหาญและเสียสละ ด้วยเหตุนี้ทำให้ร็อทไวเลอร์เป็นสัตว์เลี้ยงของครอบครัว

มาตราฐานสายพันธุ์
ลักษณะทั่วไป : ร็อทไวเลอร์ที่อยู่ในอุดมคติควรมีขนาดปานกลาง ล่ำและมีพลัง ความกระทัดรัดและโครงสร้างที่บึกบึนเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความแข็งแรง สุนัขเพศผู้จะมีโครงสร้างที่ใหญ่กว่าสุนัขเพศเมีย โดยที่เพศเมียแม้จะมีขนาดเล็กกว่าแต่ไม่ได้อ่อนแอกว่าแม้แต่น้อย
ศีรษะ : ความยาวปานกลาง มองด้านข้าง หน้าผากจะโค้งเล็กน้อย ขากรรไกรบนและล่างแข็งแรง หูขนาดปานกลาง ห้อยลง ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ในขณะที่ตื่นตัวหูจะอยู่ในระดับเดียวกับส่วนบนของกะโหลก จมูกกว้างและมีสีดำ ลำตัวกว้างและลึกลงไปจนถึงข้อศอก หลังเหยียดตรงและแข็งแรง ชายกระเบนเหน็บสั้น ลึกและเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ หางตัดสั้นเกือบชิดลำตัว
ส่วนหน้า : ระยะจากจุดสูงสุดถึงข้อศอกมีระยะเท่ากับข้อศอกถึงพื้นดิน ขาได้พัฒนาอย่างแข็งแรง ประกอบด้วยกระดูกที่ใหญ่และเหยียดตรง ฝ่าเท้าแข็งแรง มีสปริงและเกือบจะตั้งฉากกับพื้นดิน กลมและกระทัดรัด โค้งกำลังดี ไม่บิดเข้าหรือบิดออก อุ้งเท้าหนาและแข็ง เล็บเท้าสั้น แข็งแรง และมีสีดำ นิ้วติ่งควรจะตัดทิ้ง
ขน : ขนชั้นนอกเหยียดตรง แน่นและหยาบ ยาวปานกลางและเรียบ ขนชั้นในจะอยู่บริเวณคอและตะโพก ส่วนขนจะหนาหรือบางขึ้นอยู่กับสภาพของอากาศ
สี : ต้องมีสีดำโดยเสมอ โดยอาจจะมีมาร์คกิ้งสีสนิมหรือสีมาฮ็อกกานี มาร์คกิ้งที่ว่าอาจจะอยู่เหนือตาแต่ละข้างบริเวณแก้ม เป็นแถบอยู่ด้านข้างของปากเป็นต้น


Credit :: Bloggand PIWAT , Sanook

ส่วนเนื้อหาต่อจากนี้ก็เกี่ยวกับ การผสมพันธ์ข้ามสายพันธ์เด้อจ้า ^O^



1.ชิวาว่า ผสมกับ ดัชชุน ออกมาเป็น !!!(รอหน่อยนะ ถ้าภาพไม่ขึ้น ^^)








2.ชิสุ ผสมกับ ยอร์คเชีย ออกมาเป็น





3.ตัวนี้รู้สึกจะเป็น ลาบาดอร์ ผสมกับ พุดเดิ้ล






4.อันนี้ ดัลเมน กับ พอยเตอร์ (รอหน่อยยย ถ้าภาพไม่ขึ้น ^^)






5.ปั๊ค ผสมกับ ปอม ออกมาเป็น!!!








6.อันนี้ชื่อพันธ์ ชิว่าอีเกิ้ล ผสมระหว่าง บีเกิ้ล กับชิวาว่า
ปล.ชื่อพันธุ์อย่างนี้จริงๆนะ ไม่ได้ตั้งเองนะ







7.อันนี้ยอดฮิตเลย หลายๆคนอาจจะสงสัย รวมทั้งเค้าด้วยยยย !!
ปั๊ค ผสม เฟรน บูลด๊อก ออกมาเป็น เฟรนชี้ ปั๊ค =[]=






8.อีกตัวครับอีกตัว อันนี้ก็ยอดฮิตคาใจเค้าเหมือนกัน
เยอรมัน เชฟเฟิต(อัลเซเชียน) ผสมกับ ไซบีเรียน ฮัสกี้
ชือพันธุ์ เยอรมัน ฮัสกี้




9.ตัวแรกเป็น เยอรมันเซฟเฟิต ผสมกัน พูดเดิ้ล ชื่อพันธุ์ เชฟพาดูเดิ้ล





10.พุดเดิ้ล ผสมกับ ปั๊ค ชื้อพันธฺุ์ ปั๊ก-กะ-พู






11.พุดเดิ้ล ผสมกับ เซนเบอร์นาด ชื่อพันธุ์ เซนต์ เบอร์ดูเดิ้ล




Credit :: Khon Kaen Community > KKL MARKET > สัตว์เลี้ยง/ต้นไม้ Pet - flower > มาดูรูป สุนัข ผสมข้ามสายพันธุ์ต่างๆ แล้วหน้าตาจะเป็นยังไง???


หมดแล้วว ว ว วว

แค่นี้ล่ะ = =

ขอ เม้น + โหวต ก็ได้นะ


ใครรักหมาตัวน้อยๆมั้ง!
ยกมือขึ้น ^^/ (จขกท ชอบลูกสุนัขมาก แต่ไม่มีปัญญาหามาเลี้ยง >> อีกล่ะ)

หมาไทยใครเลี้ยงอยู่มั้งอ่ะ?
บอกกันมั้งเน่อ
จะดูว่า พันธ์ไทย กะ ต่างชาติ พันธ์ไหนมีคนเลี้ยงเยอะกว่ากัน
หุหุ ^^

.................................

แก้ไขๆ

เพิ่มๆ

ไซบีเรีย ฮัสกี
สุนัขพันธุ์ SIBERIAN HUSKY มีถิ่นกำเนิดในไซบีเรียน สุนัขพันธุ์นี้ถูกคัดเลือกพันธุ์ขึ้นโดยชาวพื้นเมืองที่เรียกว่า CHUKCHI เพื่อให้ทำหน้าที่ล่าสัตว์และเฝ้ายาม แต่ต่อมาถูกพัฒนาให้มีลักษณะของสุนัขลากเลื่อน ประมาณ คศ.1900 มีการแข่งขันสุนัขลากเลื่อน ALASKA โดยมีระยะทางถึง 400 ไมล์ สุนัขที่ชนะในการแข่งขันคือสุนัขพันธุ์ SIBERIAN HUSKY หลังจากนั้นกีฬาแข่งลูกสุนัขลากเลื่อนก็เป็นที่นิยมมากขึ้น สุนัขพันธุ์นี้ก็มักจะชนะอยู่เสมอ AKC. รับรองสุนัขพันธุ์นี้ในปี คศ.1930

มาตราฐานสายพันธุ์
อุปนิสัย : ฉลาดเป็นมิตร สุขุม สามารถทำงานร่วมกันเป็นฝูงได้

ส่วนหัว : มีขนาดปานกลางสมส่วนกับลำตัว หัวกะโหลกค่อนข้างกลม หัวกะโหลกระหว่างหูจะกว้าง และเรียวลงจรดตาทั้งสองข้าง

หู : มีขนาดปานกลางมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายหูมน ใบหูหนา มีขนแน่นหูตั้ง

ตา : มีลักษณะเป็นรูปกลมรี อยู่หางกันพอประมาณ ตามีสีน้ำตาลเข้ม

ดั้งจมูก : มีมุมหักพอประมาณ

ปาก : ความยาวของปากมีขนาดใกล้เคียงกับความยาวของหัวกะโหลก ปากมีความกว้างพอประมาณ สันปากตรง โคนปากใหญ่ และเรียวลงจรดปลายจมูก ริมฝีปากตึง มีสีเข้ม

จมูก : มีสีดำ น้ำตาลเข้ม หรือชมพู

ฟัน : ขาวสะอาด แข็งแรง ขบแบบกรรไกร

ลำตัว : มีขนาดปานกลาง เส้นหลังตรงขนานกับพื้น ความยาวของลำตัวมากกว่าความสูงของลำตัวเล็กน้อย

คอ : มีความยาวปานกลาง มีลักษณะโค้ง ขณะเดิน หรือวิ่ง คอจะยืดไปข้างหน้า
ลำตัวส่วนหน้า : หัวไหล่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ แข็งแรง

อก : มีลักษณะแข็งแรง อกลึกจรดข้อศอก อกมีความกว้างพอประมาณ ไม่กว้างจนเกินไป

ขาหน้า : มองจากด้านหน้าขาหน้าทั้งสองข้างตรง ห่างกันพอเหมาะ มองจากด้านข้างข้อเท้าเอียงเล็กน้อย ท่อนขาตรง ความยาวของขาจากข้อศอกถึงพื้นจะมากกว่าความยาวจากข้อศอกถึงหัวไหล่เล็กน้อย เท้ามีลักษณะกลมรี นิ้วเท้าชิด เท้ามีขนหนาแน่น

ขาหลัง : ท่อนบนประกอบด้วยกล้ามเนื้อ มีกำลังมาก ข้อเท้าหลังแข็งแรง มองจากเท้าหลัง ขาหลังทั้งสองข้างตั้งตรงขนานกัน ห่างกันพอเหมาะ เท้ามีลักษณะกลมรีนิ้วเท้าชิด เท้ามีขนหนาแน่น

หาง : มีขนเป็นพวง หางมักจะยกสูงโค้งเล็กน้อย หางไม่บิดเอียงไปทางซ้ายหรือขวา

ขน - สี : ขนมีสองชั้น ขนชั้นในนุ่ม ขนชั้นนอกแข็งแนบชิดผิวหนัง ขนมีหลายสี ตั้งแต่สีดำหรือขาวล้วน

ขนาด : เป็นสุนัขที่มีขนาดปานกลาง

น้ำหนัก : เพศผู้หนักประมาณ 45 - 60 ปอนด์ เพศเมียหนักประมาณ 35 - 50 ปอนด์

ส่วนสูง : เพศผู้สูงประมาณ 21 - 23.5 นิ้ว เพศเมียสูงประมาณ 20 - 22 นิ้ว

การเดิน - วิ่ง : มีความสง่างาม เคลื่อนที่ได้เร็ว ขณะวิ่งเท้าไม่บิด หรือปัด

ข้อบกพร่อง : หูใหญ่ หูตก หางม้วนมาก


อีกพันธ์ๆ

ดัลเมเชียน(มีเรื่องนึงของ Wal Disney ป่ะ ถ้าจำไม่ผิด *0*)
เป็นสุนัขที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน มีประวัติและตำนานอันยาวนาน รูปร่างของเขาเป็นการผสมผสานระหว่าง สุนัขพันธุ์พ้อยเตอร์และสุนัขพันธุ์ฮาวนด์ที่มีใบหูเล็กและผิวหนังที่ตึงของทวีปยุโรปตะวันออก เนื่องจากมันไม่ได้ถูกใช้เป็นสุนัขดมกลิ่นหรือช่วยในการล่าสัตว์ จึงเป็นการยากที่จะรู้ถึงเทือกเถาเหล่ากอที่แน่ชัด ตามตำนานได้เล่าขานว่า เล่าขานว่ามาจากทางตอนเหนือของประเทศอินเดียเมื่อนานมาแล้ว แล้วถูกนำเข้าทวีปยุโรปตะวันออกโดยชาวยิปซี เนื่องจากพบบันทึกเกี่ยวกับสุนัขพันธุ์นี้ในเมืองดัลเมเชียในยุคแรกๆ จึงมีการตั้งชื่อสุนัขพันธุ์นี้ว่าดัลเมเชียน

ไม่ว่าจะมีต้นกำเนิดอย่างไร เจ้าที่คอยวิ่งตามม้าเทียมรถตั้งแต่ยุคกลาง เพื่อปกป้องนักท่องเที่ยวจากโจรที่ปล้นคนเดินทาง แต่ในที่สุดมันก็กลายมาเป็นเครื่องประดับของผู้รากมากดี จากภาพที่สุนัขพันธุ์นี้วิ่งไปตามถนนของกรุงลอนดอน เพื่อกันผู้คนไม่ให้ไปเกะกะเจ้าหน้าที่ดับเพลิง จึงมีชื่อเล่นว่าสุนัขดับเพลิง ดัลเมเชียนเป็นสัตว์เลี้ยงที่สะอาด สงบเสงี่ยมและมองได้ไกล กลายเป็นสุนัขที่คอยระแวดระวังเกี่ยวกับเพลิงไหม้ เป็นสุนัขที่ไม่ค่อยเห่ายกเว้นจะมีอะไรหลงเข้ามา สุนัขพันธุ์นี้มีความอดทนอย่างเหลือเชื่อ สามารถที่จะวิ่งในความเร็วปานกลางแบบไม่มีกำหนด ความจำเป็นในการออกกำลังกายจึงมีมาก

มาตราฐานสายพันธุ์
ลักษณะทั่วไป : ดัลเมเชียนเป็นสุนัขที่มีจุดโดดเด่น ตื่นตัว แข็งแรง เต็มไปด้วยมัดกล้าม กระฉับกระเฉง ไม่ขี้อาย เฉลียวฉลาด เป็นสุนัขที่มีความทรหดอดทนผนวกกับการวิ่งที่ค่อนข้างเร็ว
อุปนิสัย : ร่าเริง รักสะอาด ตื่นตัว แข็งแรง เต็มไปด้วยมัดกล้าม กระฉับกระเฉง ไม่ขี้อาย เฉลียวฉลาด เป็นสุนัขที่มีความทรหดอดทนผนวกกับการวิ่งที่ค่อนข้างเร็ว
ศีรษะ : มีความสมดุลกับร่างกาย มีความยาวพอสมควร ผิวหนังไม่หย่อน
ตา : อยู่ห่างกันพอประมาณ ขนาดปานกลางและมีลักษณะกลม ตาสีน้ำตาลหรือสีน้ำเงิน ตายิ่งเข้มยิ่งดี ตามักมีสีเข้มในดัลเมเชียนที่มีจุดสีดำมากกว่าในตัวที่มีจุดสีตับ
หู : ขนาดปานกลาง ฐานหูกว้างแล้วค่อยๆ สอบ ปลายหูมน หูบาง เมื่อตื่นตัวส่วนบนของหูจะอยู่ระดับเดียว กันกับยอดของกะโหลกศีรษะ
จมูก : สีดำในสุนัขที่มีจุดสีดำ และสีน้ำตาลในสุนัขที่มีจุดสีตับ
ริมฝีปาก : ปิดสนิท
คอ : เส้นหลัง ลำตัว คอโค้งได้ที่ ค่อนข้างยาว ไม่มีเหนียง
เส้นหลัง : เรียบ
อก : ลึก กว้างปานกลาง
หลัง : อยู่ในแนวราบและแข็งแรง
ชายกระเบนเหน็บ : สั้น เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อและโค้งเล็กน้อย
หาง : ต่อจากเส้นหลังอย่างธรรมชาติ ไม่มีการตัดหาง หางชูขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ม้วน
เท้า : ทั้งเท้าหน้าและเท้าหลังกลมและกระทัดรัด มีอุ้งเท้าที่หนาและมีสปริง เล็บสีดำหรือขาวในสุนัขที่จุดสีดำ และสีน้ำตาลหรือสีขาวในสุนัขที่มีจุดสีตับ
ขน : ละเอียด หนา สั้น เป็นมัน



อีกพันธ์
เวสต์ไฮด์แลนด์ไวท์เทอเรียร์
สุนัขพันธุ์นี้มีขนาดเล็ก ชอบความสนุกสนาน ร่างกายมีความสมดุล แข็งแรง มีการนำเสนอและอวดตัวเองได้ค่อนข้างดี ไม่หวงตัวมาก มีโครงสร้างร่างกายที่ดี แข็งแรง มีอกที่ลึกและซี่โครงดีมีหลังตรง และลำตัวด้านหลังเต็มไปด้วบพลังจากกล้ามเนื้อของขาร่วมกับการแสดงออกของสุนัข ทำให้เพิ่มระดับความแข็งแรงและความคล่องแคล่ว ความยาวของขนประมาณ 2 นิ้ว เป็นขนสีขาวค่อนข้างแข็ง แต่ขนชั้นในนิ่ม ขนที่ยาวกว่าจะอยู่บริเวณด้านหลังและด้านข้าง ควรมีการเล็มขนให้สั้นในบริเวณคอและขนบริเวณไหล่ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือขนบริเวณรอบคอด้านบนต้องปล่อยไว้ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวโดยแผ่เป็นรูปวงกลมรอบๆใบหน้า

มาตราฐานสายพันธุ์
ขนาด : ในตัวผู้ขนาดไม่ควรเกิน 11 นิ้ว เมื่อวัดจากตะโหนก ในตัวเมียไม่ควรเกิน 10 นิ้ว ถ้าผิดไปจากนี้เล็กน้อยยอมรับได้ สุนัขพันธุ์นี้เป็นสุนัขขนาดกะทัดรัด ด้วยส่วนและสมดุลที่ดี ลำตัวต้องระหว่างตะโหนกถึงหางจะสั้นกว่าความสูงเล็กน้อย มีขาที่สั้นแต่กระดูกเจริญดี แข็งแรง
ลักษณะที่ผิด มีความสูงมากกว่าหรือน้อยกว่าที่กำหนดไว้ กระดูกใหญ่
ศีรษะ : มีลักษณะกลมเมื่อมองจากด้านหน้า มีส่วนที่พอเหมาะกับร่างกาย แววตาที่อยากรู้อยากเห็น ชอบค้นคว้า ทะเล้น นัยน์ตาตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ห่างกัน มีขนาดปานกลาง รูปทรงอัลมอนด์ สีน้ำตาลเข้ม ตาค่อนข้างลึก ตาคมและมีแววเฉลียวฉลาด มองจากด้านล่างมีขนคิ้วที่หนา ขอบตาดำ
ลักษณะที่ผิด ขนาดเล็ก ตาโปน หรือสีซีด
หู : ใบหูเล็ก ตั้งตรงเสมอ ตั้งห่างกันอยู่ด้านบนของขอบนอกของกะโหลก ปลายใบหูค่อนข้างแหลม หูต้องไม่ตก ขนที่ใบหูต้องได้รับการตัดและเล็มอยู่เสมอ สุนัขต้องขยับใบหูได้อย่างอิสระ สุนัขผิวสีดำถือว่าปกติเป็นที่นิยม
ลักษณะที่ผิด ใบหูกลม กว้าง ใหญ่ หูตั้งชิดกัน ไม่ตั้งตรง หรือตั้งอยู่ต่ำเกินไป
กะโหลก : มีความกว้างกว่าด้านยาวเล็กน้อย แต่ไม่แบนตรงบริเวณส่วนบนสุด มียอดเล็กน้อยระหว่างใบหู แล้วลาดลงมาบริเวณนัยน์ตา มีจุดสต๊อบที่ชัดเจน มีคิ้วที่หนา
ลักษณะที่ผิด กะโหลกที่แคบหรือกว้างเกินไป
ปาก : ไม่แหลม สั้นกว่าส่วนกะโหลก เต็มไปด้วยพละกำลังแล้วลาดลงมาสู่ปลายจมูก ซึ่งใหญ่และสีดำ ขากรรไกรได้ระดับและแข็งแรง ริมฝีปากต้องเป็นสีดำ
ลักษณะที่ผิด ส่วนปากยาวกว่าส่วนกะโหลก จมูกมีสีอื่นที่ไม่ใช่สีดำ
การสบกันของฟัน ฟันต้องใหญ่เหมาะกับขนาดของสุนัข ฟันตัดอย่างน้อย 6 ซี่ ระหว่างฟันเคี้ยว ทั้งฟันบนและฟันล่าง การไม่มีฟันกรามเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ฟันตัดบนอาจอนยู่เหลือครบ เหลือฟันตัดล่างเล็กน้อยยอมรับได้
ลำตัว : คอเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อและลาดลงไปยังไหล่ได้ดี ความยาวของลำคอต้องได้ส่วนของสุนัข
ลักษณะที่ผิด ลำคอสั้นหรือยาวเกินไป
ส่วนบนของลำตัว : เรียบและได้ระดับทั้งขณะที่ยืนและวิ่งหรือเดิน
ลักษณะที่ผิด บั้นท้ายสูงเกินไปตัวบิด
ลำตัว : กะทัดรัดได้ส่วนดี อกลึกอย่างน้อยลงไปถึงข้อศอกสุนัข
ลักษณะที่ผิด อกตื้น แคบหรือแอ่น ยาวหรือสั้นเกินไป อกที่เป็นถังเบียร์
หาง : ต้องสั้น ได้ส่วน ลักษณะคล้ายแครอท ขณะยืนต้องสูงไม่เกินกะโหลก ปกคลุมไปด้วยขนที่แข็ง ต้องตรงมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ หางชี้ชันแต่ต้องไม่แตะหลัง ต้องไม่ตัดหาง
ลักษณะที่ผิด ตั้งอยู่ในตำแหน่งต่ำ หางยาวมากเกินไป ขนบางมาก หางม้วนขอดอยู่บนหลัง
ขาหลัง : เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ ทำมุมดี ขาไม่ถ่างมากนัก ขาบิดรงบริเวณข้อขาบนขาสั้นและขนานกัน เมื่อจากด้านท้าย
ลักษณะที่ผิด ขาบิดหรือขาถ่างมาก ไม่มีมุมระหว่างข้อ ข้อเท้ามีลักษณะคล้ายเท้าวัว
อุ้งเท้า : อุ้งเท้าหลังเล็กกว่าเท้าหน้า มีอุ้งเท้าหนา อาจมีการตัดนิ้วติ่
ขน : มีความสำคัญมาก ซึ่งนานๆครั้งจะพบว่าสุนัขมีขนที่สมบูรณ์แบบ ขนต้องเป็น 2 ชั้น เพื่อให้ศรีษะได้รูปต้องมีการดึงขนทิ้ง เพื่อให้ได้ใบหน้าที่กลม ขนชั้นนอกแข็ง ชี้ตรง สีขาว มีความยาวประมาณ 2 นิ้ว ขณะที่ขนบริเวณและคอจะสั้นกว่า อาจมีการตัดแต่งขนเพื่อให้ได้รูปทรงตามมาตรฐานสายพันธุ์ จะมีขนที่ยาวบริเวณตำแหน่ง และขา ขนที่ดีคือสีขาว แข็ง ตรง ขนชั้นในนิ่ม
สีขน : ต้องเป็นมีขาว ตามชื่อสุนัข
การก้าวย่าง : เป็นอิสระ เดินตรงและเลี้ยวกลับไปมาง่าย มีอิสระและพลังขับเคลื่อนที่ดี
อารมณ์ : ทะเล้น สดใส ร่าเริง เป็นมิตร กล้าหาญ เชื่อมั่นในตนเอง
ลักษณะที่ผิด ขี้ขลาด ขี้อาย หรือมีนิสัยนักเลง ชอบต่อสู้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น